บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) กำหนดกรอบราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมกันไม่เกิน 229.5 ล้านหุ้นที่หุ้นละ 25.25-26.25 บาท โดยจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) จองซื้อในวันที่ 22-24 มี.ค.และเปิดให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อในวันที่ 22-24 มี.ค. และ 27-28 มี.ค.
ทั้งนี้ ผู้จองซื้อข้างต้นจะต้องชำระเงินค่าของซื้อที่ราคาเสนอขายสูงสุดของช่วงราคาดังกล่าวที่ 26.25 บาท/หุ้น หากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาจองซื้อดังกล่าวที่น่าจะกำหนดได้ในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ บริษัทจะดำเนินการคืนเงินส่วนต่างของราคาให้กับผู้จองซื้อภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยคาดว่า WHAUP เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 10 เม.ย.60
พร้อมลงนามแต่งตั้ง บล.ไทยพาณิชย์ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย อีกทั้งมี บล. อาร์เอชบี (ประเทศไทย)และ บล.บัวหลวง เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายในการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้
อนึ่ง หุ้น IPO ของ WHAUP แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 125 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมของผู้ถือหุ้นเดิม คือ H-International (SG) Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 104.50 ล้านหุ้น โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สาย Primary Distribution ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และในนามตัวแทน บล.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า บล.ไทยพาณิชย์ และ CLSA Limited ในฐานะ International Manager สำหรับการเสนอขายในต่างประเทศจะพิจารณาร่วมกันในการกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final price) หลังจากปิดการสำรวจความต้องการซื้อหุ้น (Book building) ของนักลงทุนสถาบัน
สำหรับกรอบราคาเสนอขาย IPO หุ้นละ 25.25-26.25 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ที่ 19.96-20.75 เท่า ซึ่งมีส่วนลดให้กับนักลงทุนแล้วจากราคาเหมาะสมที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ และนักลงทุนสถาบันยังให้ความสนใจจองซื้อจำนวนมาก ราคาดังกล่าวไม่ไม่รวมโอกาสที่ WHAUP จะลงทุนโซลาร์รูปที่ WHA มีพื่นที่บนหลังคากว่า 2 ล้านตารางเมตร และการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าขยะอีก 6.9 เมกะวัตต์ ทำให้ราคานี้ถือว่าเป็นราคาที่ไม่แพง
ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA Group กล่าวในฐานะบริษัทแม่ว่า ถือเป็นก้าวที่สำคัญของ WHA Group ที่สามารถนำพาบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ ทั้งนี้มีความเชื่อมั่นว่า WHAUP เป็นบริษัทที่มีศักยภาพความแข็งแกร่งทั้งธุรกิจด้านบริการสาธารณูปโภคแบบครบวงจรและธุรกิจพลังงาน
ธุรกิจสาธารณูปโภคของ WHAUP ครอบคลุมทั้งการจำหน่ายน้ำดิบ ผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และบริหารจัดการน้ำเสีย แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมของเหมราช ส่วนธุรกิจพลังงาน บริษัทฯ ได้ลงทุนในธุรกิจผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน WHAUP เข้าร่วมลงทุนกับ กลุ่มกัลฟ์ กลุ่มโกลว์ กลุ่มบี กริม เพาเวอร์ และกลุ่มกันกุล บริษัทฯ ยังมีนโยบายที่จะขยายธุรกิจในการให้บริการสาธารณูปโภคอื่นๆ อาทิ ธุรกิจบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อพลังงาน และธุรกิจสาธารณูปโภคในชุมชน
นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP กล่าวว่า ช่วงราคาเสนอขายหุ้น IPO ของ WHAUP อยู่ในกรอบของช่วงราคาที่เหมาะสม เมื่อพิจารณาโอกาสในการเติบโตจากการขยายธุรกิจของบริษัทฯในอนาคต ปัจจุบัน WHAUP เป็นผู้ประกอบการด้านสาธารณูปโภคแบบครบวงจรที่มีทั้งจำหน่ายน้ำดิบ ผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และบริหารจัดการน้ำเสีย โดยบริษัทฯ ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Right) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบการนิคมอุตสาหกรรมเหมราช
นอกจากนั้น บริษัทยังมีการลงทุนในธุรกิจพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้า IPP SPP และ VSPP ที่เปิดดำเนินการไปแล้วจำนวนประมาณ 350 เมกะวัตต์ (ตามสัดส่วนการลงทุน) และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 190 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเปิดดำเนินการครบ 540 เมกะวัตต์ในราวต้นปี 62 และอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่หลังคา เช่น คลังสินค้า หรือโรงงานให้เช่าภายใต้การบริหารจัดการของกลุ่ม WHA พื้นที่รวมกว่า 2 ล้านตารางเมตร
และโครงการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อพลังงาน โดยบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการกำจัดขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า ร่วมกับ บริษัท โกลว์ เอ็นเนอร์ยี่ และบริษัท สุเอซ (ในสัดส่วนะ 33.33%) ภายใต้ชื่อบริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าประเภท VSPP ที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อเดือน ต.ค.59 ให้ขายไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมให้กับ กฟภ.จำนวน 6.90 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตติดตั้ง 8.63 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 20 ปี
สำหรับการจำหน่ายหุ้นสามัญในครั้งนี้ คิดเป็น 30% ของหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น ซึ่งเงินที่ได้จากการเสนอขาย IPO จะนำมาใช้ลงทุนและชำระหนี้ โดยในปีนี้บริษัทวางแผนใช้เงินลงทุนราว 1.8 พันล้านบาทเพื่อก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า SPP 6 โรง โดยจะมี 4 โรง กำลังการผลิต 130 เมกะวัต์ที่จะก่อสร้างแล้วเสร๊จและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จะทำให้สิ้นปี 60 บริษัทจะมีกำลังการผลิตรวม 480 เมกะวัตต์ จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 350 เมกะวัตต์
"บริษัทเชื่อว่าผลการดำเนินงานในปีนี้จะเติบโตขึ้นจากปีก่อน เพราะในช่วงครึ่งปีหลังจะมีรายได้จากโรงไฟฟ้า SPP 4 โรง เข้ามาเสริม"นายวิเศษ กล่าว