นายพิธาน องค์โฆษิต กรรมการผู้จัดการ บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 64 แตะ 3 หมื่นล้านบาท โดยมาจากปริมาณขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น จากกระแสการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของค่ายต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และเป็นปัจจัยบวกให้กับบริษัททั้งในแง่ผลการดำเนินงานและส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ที่ภายในปี 64 ตั้งเป้าหมายเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ของโลก จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 5
พร้อมกันนี้ บริษัทวางแผนการลงทุนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ในอนาคต โดยแผนงานของบริษัทในปี 60 จะขยายกำลังการผลิตโรงงานใหม่ที่ลาดกระบัง ซึ่งผลิตแผ่นพิมพ์วงจร (PCB) เฟส 3 กำลังการผลิต 3 แสนตารางฟุต/เดือน จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมที่ 3.15 ล้านตารางฟุต/เดือน โดยใช้งบลงทุนราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 61 บริษัทมีแผนการก่อสร้างโรงงานใหม่เพิ่มอีก 1 โรงในพื้นที่ใกล้กับโรงงานเดิม เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 2 ล้านตารางฟุต/เดือน ใช้งบลงทุนราว 90-95 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาการขยายไปสู่การผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมประเภทอื่น โดยสนใจการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งได้ทำการศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศ เพื่อพัฒนาและต่อยอดธุรกิจในอนาคต อีกทั้งเป็นการลดความเสี่ยงของอุตสาหกรรมยานยนต์หลังจากปี 64 ที่บริษัทคาดว่าจะเห็นการชะลอตัวเกิดขึ้น เพราะในช่วง 3-5 ปีนี้อุตสาหกรรมรถยนต์มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก
ทั้งนี้ คาดว่าการต่อยอดธุรกิจใหม่เกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจะได้เห็นความชัดเจนในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า โดยรูปแบบการลงทุนเป็นไปได้ทั้งการลงทุนเองและการซื้อหรือร่วมทุนกับพันธมิตร
นายพิธาน กล่าวอีกว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ เพราะลูกค้าสั่งซื้อเป็นแบบทำตามคำสั่งซื้อ (make to order) ซึ่งจะเพิ่มราคาขายได้ไม่เต็ม 100% แต่กลับจะมีผลกระทบต่อมาร์จิ้นที่จะลดลงเล็กน้อยจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออก 95% ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังยุโรป 50% และที่เหลือส่งออกไปยังสหรัฐฯและจีน
ด้านสถานการณ์ราคาต้นทุนวัตถุดิบทองแดงที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 5-6 พันเหรียญสหรัฐ/ตัน ในช่วงปลายปีก่อน ปัจจุบันสถานการณ์ราคาต้นทุนวัตถุดิบทองแดงกลับมาทรงตัวมากขึ้น หลังจากปริมาณการความต้องการใช้ลดลง หลังจากผู้ผลิตแบตเตอร์รี่สำหรับโทรศัพท์มือถือมีความต้องการที่ชะลอตัวลง เพราะช่วงที่ผ่านมามีการสั่งซื้อวัตถุดิบดังกล่าวไปมากแล้ว โดยคาดว่าจะส่งผลให้กำไรขั้นต้นของบริษัทตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ทยอยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องไปถึงไตรมาสสุดท้ายของปี
"เรายังคงตั้งเป้าการเติบโตปีนี้ราว 15-17% จากปีก่อน โดยส่วนใหญ่จะมาจากลูกค้าเก่าที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น และลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ก็ยังกังวลเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่า และเรื่องต้นทุนราคาทองแดงที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้เราต้องสต็อกสินค้าเพิ่มเพื่อควบคุมต้นทุน ส่วนเรื่องของนโยบายทรัมป์ก็ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อมองตัวนโยบายเรื่องของภาษีการนำเข้า หากดำเนินการ เรามองว่าน่าจะส่งดีต่อเรามากกว่าเพราะจีนถือเป็นคู่แข่งหลักกับเรา"นายพิธาน กล่าว