นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้า SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อ SME ปี 60 เติบโต 6.8% หรือคิดเป็นเม็ดเงินปล่อยสินเชื่อ 1.64 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอลงจากปี 59 ที่สินเชื่อ SME เติบโต 14% หรือคิดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อ 1.53 แสนล้านบาท
การเติบโตที่ลดลงของสินเชื่อ SME มาจากการที่ธนาคารจะไม่เน้นรุกปล่อยสินเชื่อมากเท่ากับปีก่อน แต่จะหันมาเน้นในเรื่องคุณภาพของลูกค้า และผลตอบแทนที่มีต่อธนาคาร โดยการที่ลูกค้าที่ขอสินเชื่อจะต้องมีการเดินบัญชีกับธนาคาร ซึ่งธนาคารต้องการเป็นธนาคารหลักของลูกค้า (Main Bank) เพราะสามารถต่อยอดไปสู่การเสนอผลิตภัณฑ์และการบริการต่างๆของธนาคารได้ ประกอบกับการที่ลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร ทำให้ธนาคารสามารถมีต้นทุนของเงินฝากที่ลดลงด้วย
"ปีนี้เราจะเน้นการให้ลูกค้ามาใช้ธนาคารเราเป็น Main Bank ไม่ไช่เป็น Main Lending Bank เพราะเราอยากให้ลูกค้าที่ขอสินเชื่อมาฝากเงินและเดินบัญชีกับธนาคารเราด้วย ซึ่งทำให้เราสามารถที่จะเสนอผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆให้กับลูกค้าเพิ่มได้ และเรายังได้เงินฝากที่มีต้นทุนต่ำเข้ามา ซึ่งปีนี้เราก็จะเน้นไปที่สินเชื่อ Trade Finance, Working Cap และ Supply chain solution"นายสยาม กล่าว
ขณะเดียวกันธนาคารคาดว่าสินเชื่อ SME ในไตรมาส 1/60 จะเติบโตใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เติบโต 0.5% โดยเป็นปกติในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของทุกปีที่สินเชื่อ SME จะเติบโตต่ำกว่าครึ่งปีหลัง แม้ปีนี้รัฐบาลจะเริ่มมีการเบิกจ่ายงบลงทุนออกมาบ้างแล้ว แต่ยังต้องใช้เวลาที่ภาคเอกชนจะมีความมั่นใจและกลับมาลงทุนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณว่าความมั่นใจเริ่มทยอยกลับมาดีขึ้น และลูกค้า SME เริ่มมีการทยอยลงทุนกันบ้าง แต่อาจจะยังไม่มากนัก ซึ่งเป็นผลมาจากความมั่นใจในแนวโน้มเศษฐกิจไทยที่ยังเติบโตได้ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้การใช้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนในช่วงต้นปีนี้มีค่อนข้างมาก
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อใหมเกิดรายได้ (NPL) ของลูกค้าสินเชื่อ SME ในปี 60 คาดว่าจะลดลงต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 4-5% เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นทำให้แนวโน้มธุรกิจของลูกค้า SME เริ่มฟื้นกลับมา และธนาคารยังมองว่าระดับ NPL ได้ผ่านพ้นช่วงที่สูงสุดไปแล้ว ซึ่งจะค่อยๆเห็นการทยอยปรับลดระดับ NPL แต่อย่างไรก็ตามธนาคารยังมีการติดตามและให้การช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อในระดับหนึ่ง และแนะนำให้ลูกค้าจะต้องเดินบัญชีกับธนาคาร เพื่อที่ธนาคารจะสามารถติดตามการทำธุรกรรมต่างๆและทราบการเคลื่อนไหวของลูกค้าได้อย่างใกล้ชิด