รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้เอกชนรายเดิมเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค, บางซื่อ-ท่าพระ และให้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้งนี้เอกชนจะเข้ามาลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ และขยายระยะเวลาการเดินรถสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคลที่วิ่งอยู่ปัจจุบันให้สิ้นสุดระยะเวลาเดียวกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย คือในปี 2592
ทั้งนี้ สาเหตุที่เจรจาให้เอกชนรายเดิมเป็นผู้เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เพื่อให้มีการเดินรถต่อเนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ เชื่อมต่อไปถึงรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
การเจรจาเดินรถดังกล่าว เป็นไปตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ทั้งนี้ ได้กำหนดให้เก็บค่าแรกเข้าได้ครั้งเดียว และกำหนดอัตราค่าโดยสาร 16-42 บาท แม้จะเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หากเดินทาง 30 สถานีก็จะยังเก็บค่าโดยสารในอัตราสูงสุดที่ 42 บาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเพิ่มเติมในเรื่องระบบตั๋วร่วมให้เพิ่มเติมในข้อสัญญาเพื่อให้เริ่มใช้งานได้ทันที และพิจารณาคนกลาง (Third Party) เพื่อตรวจสอบในเรื่องรายได้ รายจ่าย ของโครงการหลังจากที่มีการรวมสัญญาเพื่อความโปร่งใส
ส่วนผลการเจรจาผู้เดินรถสายสีน้ำเงินรายเดิม คือ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในเรื่องค่าลงทุน ค่างานระบบรถไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษา ผลตอบแทนต่างๆ หลักการเจรจาได้ยึดหลักผลประโยชน์กับประชาชน ใน 2 เรื่อง คือ ไม่มีค่าแรกเข้า หรือเก็บเพียงครั้งเดียว และ จัดเก็บอัตราค่าโดยสารเท่าเดิมเริ่มต้นที่ 16 บาทสูงสุดที่ 42 บาท สามารถเดินทางได้ตลอดสายของสายเฉลิมรัชมงคล จำนวน 18 สถานี และส่วนต่อขยาย 19 สถานี เป็นประโยชน์ที่คืนให้ประชาชนประมาณ 62,569 ล้านบาท คิดเป็น 2,085 ล้านบาทต่อปี ส่วนเรื่องอัตราผลตอบแทน (IRR) ต่อรองที่ 9.75% ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี กรณ มีรายได้ผลตอบแทนเกิน 9.75%-11 % รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ 50:50
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะมี 3 ส่วน ได้แก่สัญญาสายเฉลิมรัชมงคลเดิม จะหมดในปี 72 ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดและเมื่อครบสัญญา จะผนวกรวมกับสัญญาสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่สิ้นสุดปี 92 พร้อมกัน
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า สัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใช้รูปแบบ PPP-Net Cost รัฐไม่อุดหนุนการเงิน เอกชนมีความเสี่ยงในการดำเนินงาน โดยรายได้จะขึ้นกับปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งรัฐได้เจรจาในเรื่องค่าโดยสารเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดโดยเก็บในอัตราเดิมของสายเฉลิมรัชมงคล สามารถเดินทางเป็นวงกลมได้ไกลขึ้น และการเดินรถต่อเนื่องมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เนื่องจากเป็นผู้เดินรถรายเดิม
โดยจะนำข้อสั่งการเพิ่มเติมเรื่อง Third Party และตั๋วร่วมเจรจากับ BEM และเร่งลงนามสัญญาให้เร็วที่สุด ตามแผนจะเปิดเดินรถบางส่วนจากสถานีหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสองปลายปี 62 และเปิดได้ทั้งระบบในต้นปี 63 โดยเอกชนมีเวลาในการจัดหาติดตั้งระบบและตัวรถ 3 ปี