รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee) เมื่อวันที่ 27 มี.ค.60 ได้มีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของคณะทำงานย่อย 4 คณะที่ได้ดำเนินการในช่วงไตรมาส 1/60 ตามแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย (ปี 59-64) พร้อมทั้งได้พิจารณาการขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ของไทย
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เร่งดำเนินการเปิดตัวตลาดหลักทรัพย์เพื่อสนับสนุนกิจการ Startup และกิจการที่มีเงินทุนจดทะเบียนที่ไม่สูง (ตลาดฯ Startup) ให้ทันในเดือน ก.ค.60 ในช่วงที่มีการจัดงาน Thailand Big Bang 2017 จากกำหนดการเดิมที่จะพร้อมเปิดใช้งานได้ในเดือน ก.ย.60
พร้อมทั้งมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตลท. กรมสรรพากร สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน และ สศค.ร่วมหารือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับ Startup นักลงทุนรายย่อยและบริษัทที่ประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน (VCC) ให้เกิดความชัดเจนภายในเดือนเม.ย.เพื่อดึงดูดให้มีการลงทุนภายใต้ตลาดฯ สำหรับ Startup ดังกล่าว
อนึ่ง ตลาดฯ สำหรับ Startup คาดว่าจะเป็นในรูปแบบตลาด Over The Counter (OTC) และอาจเปิดให้บริษัทสามารถเข้าร่วมในตลาดได้ แม้จะยังเพิ่งก่อตั้งและยังไม่มีกำไรเลยก็ตาม (No earning record) ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.60 ตลท. ได้จัดให้มีการประชุมหารือและ workshop ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ไปแล้ว
สำหรับงาน Thailand Big Bang 2017 จะจัดงานทั้งหมด 6 ครั้งในปี 60 ซึ่งจะมีงานใหญ่ คือ “Thailand Big Bang 2017" ระหว่างวันที่ 6-9 ก.ค.ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดโดยคณะทำงานเพื่อสร้างความตระหนักและการรับรู้เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (คณะทำงานชุดที่ 1) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้รวมเอางาน Startup Thailand 2017 หัวข้อ “Startup Hub of Southeast Asia" และงาน Digital Thailand 2017 เข้าไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ จะมีการจัดงาน Startup Thailand ในระดับภูมิภาคจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี จ.สงขลา จ.ขอนแก่น จ.เชียงใหม่ และจ.ภูเก็ต โดยจะมีการแถลงข่าวการจัดงานอย่างเป็นทางการต่อไปในช่วงปลายเดือน เม.ย.-พ.ค. 60
ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบหลักการเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคแห่งชาติ (National FinTech Sandbox) ของสมาคมฟินเทคประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมการบ่มเพาะและส่งเสริมฟินเทคให้เติบโตแข็งแรง เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ Startup ได้มีพื้นที่ในการทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ส่วนในด้านแหล่งเงินทุนสำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว คณะกรรมการฯ จะช่วยประสานเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจให้การสนับสนุน
พร้อมทั้งให้คณะทำงานชุดที่ 2 รวบรวมหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อศึกษาและจัดทำแนวทางการพัฒนากฎหมาย กฎระเบียบ รวมทั้งข้อกำหนดในการส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้ข้อมูลภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น โดยเบื้องต้นระบุหัวข้อปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข ดังนี้ การพัฒนา Cyber Security / Data Protection, การกำหนดเกณฑ์การเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน (Data Privacy), การพัฒนาระบบ Central KYC (Know Your Customer) และการกำหนดแนวทางการขยายการเข้าถึงข้อมูลนิติบุคคลและข้อมูลทะเบียนราษฎร์เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจ
และ มีมติเห็นชอบให้จัดทำรายงานประจำเดือน เรื่องความคืบหน้าสถานการณ์ธุรกิจ Startup ประกอบด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น จำนวนธุรกิจ Startup ในแต่ละสาขาธุรกิจ (sector) ที่มาจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ จำนวน Startup ในแต่ละ sector ที่มาขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ข้อมูลด้านสินเชื่อ ข้อมูลด้านธุรกิจเงินร่วมลงทุน รวมทั้งข้อมูลกิจกรรมที่เป็นการประชาสัมพันธ์และการให้ความรู้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการเติบโตของธุรกิจ Startup เป็นต้น