บลจ.กรุงไทย เสนอขายกองทุนตปท.อายุ 6 เดือน คาดผลตอบปทน 1.45% เปิดจองถึง 3 เม.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 29, 2017 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 140 เสนอขายตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 3 เม.ย.60 อายุกองทุน 6 เดือน มูลค่าโครงการ 10,000 ล้านบาท

กองทุนดังกล่าวจะเน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภทเงินฝากประจำ Bank of China , Macau Branch อัตราผลตอบแทน 1.75 % ต่อปี , China Construction Bank (Asia) Corporation Limited อัตราผลตอบแทน 1.80% ต่อปี, Agricultural Bank of China (Hong Kong Branch ) อัตราผลตอบแทน 1.80% ต่อปี , AI Khalij Commercial Bank อัตราผลตอบแทน 1.72% ต่อปี, Union National Bank อัตราผลตอบแทน 1.70% ต่อปี และ Qatar Nation Bank อัตราผลตอบแทน 1.68% ต่อปี

กองทุนจะลงทุนในสัดส่วนสถาบันการเงินละ 18% ยกเว้นเงินฝากประจำ Qatar Nation Bank ลงทุน 10% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และมีค่าใช้จ่ายประมาณ 0.30% ต่อปี ดังนั้น ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนประมาณ 1.45%ต่อปี กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน

นางชวินดา กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศ มีการปรับตัวขึ้นลงในช่วงแคบ ตามแรงซื้อขายของนักลงทุนในแต่ละช่วงอายุ โดยตลาดตอบรับการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุคงเหลือ 10 ปี ค่อนข้างดี โดยมี Bid Coverage Ratio 2.13 เท่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเป็นยอดซื้อสุทธิจำนวน 11,942 ล้านบาท

ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในตราสารอายุต่ำกว่า 1 ปี ในขณะที่ตราสารอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงจากแรงซื้อ หลังจากอัตราผลตอบแทนในช่วงก่อนหน้าได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตอบรับ (Price in) กับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้และครั้งหน้าไปแล้ว ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านผลกระทบจากนโยบายการคลังของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาหลังสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกายกเลิกการโหวต America Health Care Bill เนื่องจากเสียงสนันสนุนยังไม่พอ

โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวลดลง 7 bps.มาอยู่ที่ 1.26% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวลดลง 10 bps.มาอยู่ที่ 1.93% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวเลดลง 10 bps.มาอยู่ที่ 2.40% ต่อปี สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นการดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐอเมริกา แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลกในระยะเวลาข้างหน้า ผลกระทบของ Brexit ต่อ EU และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ