ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ KTC วงเงิน 1.5 หมื่นลบ.ที่ “A+" แนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 30, 2017 13:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. บัตรกรุงไทย (KTC) ที่ระดับ “A+" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปีของบริษัทที่ระดับ “A+" ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงการยกระดับจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทก็ได้รับการสนับสนุนจากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพของบริษัทด้วยเช่นกันซึ่งส่งผลทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากสภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่ออุปโภคและบริโภคท่ามกลางภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพเครดิตและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ตลอดจนคุณภาพสินทรัพย์ และอัตราส่วนโครงสร้างเงินทุน ณ ระดับปัจจุบันเอาไว้ได้ภายใต้มาตรฐานการจัดเก็บและติดตามหนี้สินและการปล่อยสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าธนาคารกรุงไทยจะยังคงให้การสนับสนุนแก่บริษัททั้งในด้านการเงินและการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย

การปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีผลประกอบการทางเงินที่ดีกว่าที่คาดไว้ซึ่งสามารถสร้างความแข็งแกร่งโดยรวมทางด้านการเงินให้เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายทางด้านเครดิตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความท้าทายจากแรงกดดันทางด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค

ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากเกิดปัจจัยที่จะกระทบต่อธุรกิจและผลประกอบการทางการเงินโดยรวมของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เช่น คุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้น่าจะไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ทั้งนี้ ระดับของการให้การสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทยหรือสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทยที่เปลี่ยนแปลงไปก็จะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิต/และหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน

KTC มีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 49.45% โดยบริษัทได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจากธนาคารแม่ กล่าวคือ การเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มธนาคารกรุงไทยทำให้บริษัทมีความร่วมมือด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สอดคล้องกับเครือธนาคารกรุงไทย โดยบริษัทยังคงใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศในการขยายฐานลูกค้า รวมถึงเป็นช่องทางการชำระเงินและให้บริการด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนอย่างต่อเนื่องจากธนาคารอีกด้วยเช่นกัน การสนับสนุนดังกล่าวช่วยเสริมสร้างสถานะที่สำคัญของบริษัทภายในเครือธนาคารกรุงไทยซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่เพิ่มขึ้นที่บริษัทจะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษจากธนาคารกรุงไทยเมื่อบริษัทร้องขอ

บริษัทมุ่งเน้นด้านการตลาดเชิงรุกในช่วงหลายปีที่ผ่าน ซึ่งทำให้บริษัทสามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 12% ของสินเชื่อบัตรเครดิต และ 6% ของสินเชื่อส่วนบุคคลรวมในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตก็เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยขยายตัว 13% และสูงกว่าอุตสาหกรรมที่ระดับ 7% ในปี 2559 ในส่วนของเงินให้สินเชื่อรวมของบริษัทก็เติบโตอย่างรวดเร็วจาก 48,080 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 เป็น 68,697 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตสะสมโดยเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 9%

การบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่รัดกุมและระบบการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพช่วยทำให้บริษัทมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีโดยจะเห็นได้จากการที่บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนสินเชื่อค้างชำระของบัตรเครดิต (เกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อบัตรเครดิตรวมให้อยู่ที่ระดับ 1.2% ได้ ณ สิ้นปี 2559 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 2.9% เช่นเดียวกันกับสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งบริษัทรายงานอัตราส่วนสินเชื่อค้างชำระของสินเชื่อส่วนบุคคล (เกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อส่วนบุคคลรวมที่ระดับ 0.9% ณ สิ้นปี 2559 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 3.1% บริษัทมีนโยบายการตั้งสำรองที่เข้มงวดโดยกำหนดอัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมไว้ที่ระดับ 7.9% ณ สิ้นปี 2559 ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) เพิ่มขึ้นเป็น 473% ณ สิ้นปี 2559 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงพอที่จะทำให้บริษัทสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนในทางลบจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ในเดือนพฤษภาคม 2558 บริษัทได้ตัดสินใจมอบหมายให้ บริษัท วินเพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายนอกเป็นตัวแทนติดตามหนี้สินที่ค้างชำระทั้งหมด บริษัทมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมจากการจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเป็น 39.5% ในปี 2558 และ 39.3% ในปี 2559 จาก 37.5% ในปี 2557 แม้ว่าอัตราสินเชื่อค้างชำระจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่อัตราหนี้สูญตัดบัญชีของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2558 มาเป็น 9.4% ในปี 2559 ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนหนี้สูญได้รับคืนก็เพิ่มขึ้นเป็น 47.4% ในปี 2559 จาก 42.8% ในปี 2557 และ 44.3% ในปี 2558 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทภายนอกที่เป็นตัวแทนติดตามหนี้สินจะสามารถบรรลุอัตราการจัดเก็บหนี้สินในระดับสูงในขณะที่ยังคงรักษาคุณภาพในการให้บริการที่ดีด้วยต้นทุนที่ควบคุมได้

จากการที่บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายประกอบกับการสนับสนุนทางการเงินที่ได้รับจากธนาคารกรุงไทยจึงทำให้ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นมิได้เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากนัก กล่าวคือ บริษัทมีเงินทุนที่ใช้สนับสนุนสภาพคล่องจากเงินกู้ที่ได้จากสถาบันการเงินหลายแห่งและจากหุ้นกู้ที่มีวันครบกำหนดชำระหนี้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยไม่มียอดเงินกู้จากสถาบันการเงินใดที่มีสัดส่วนสูงมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับยอดเงินกู้โดยรวม บริษัทใช้การกู้ยืมและการออกตราสารหนี้เป็นแหล่งเงินทุนหลัก ส่วนคู่แข่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์กลับมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าจากการมีฐานเงินฝากเป็นแหล่งเงินทุน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตที่ปรับตัวดีขึ้นของบริษัทเมื่อประกอบกับอัตราดอกเบี้ยตลาดที่มีแนวโน้มลดลงในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาก็ส่งผลให้ต้นทุนในการระดมทุนของบริษัทปรับตัวลดลงจาก 5% ในปี 2555 เหลือ 3.1% ในปี 2559

การบริหารต้นทุนทางการเงินและการให้ความสำคัญในการควบคุมค่าใช้จ่ายในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตอย่างสม่ำเสมอ โดยบริษัทมีกำไรสุทธิ (หลังหักรายการพิเศษจากการขายเงินลงทุน) อยู่ที่ 1,037 ล้านบาทในปี 2556 1,755 ล้านบาทในปี 2557 และ 2,073 ล้านบาทในปี 2558 บริษัทมีผลกำไรเท่ากับ 2,495 ล้านบาทในปี 2559 เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% ในปี 2559 จาก 2.1% ในปี 2556 (หลังหักรายการพิเศษจากการขายเงินลงทุน) ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2555 และนโยบายการตั้งสำรองที่ระมัดระวังน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาอัตรากำไรในระดับดังกล่าวต่อไปได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นซึ่งช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้เหลือ 5.6 เท่า ณ สิ้นปี 2559 หากบริษัทคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลและการลงทุนในอนาคตที่ระมัดระวัง ทริสเรทติ้งก็คาดหวังว่าบริษัทจะรักษาส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับนี้ได้ในอีก 2-3 ปี ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม แผนการขยายปริมาณสินเชื่ออาจทำให้บริษัทมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นและจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ