ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ CPFTH และแนวโน้มที่ “A+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 4, 2017 13:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) (CPFTH) ที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) (อันดับเครดิต “A+/Stable") ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของประเทศ

ทั้งนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการดำเนินงานของบริษัทที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับ CPF ซึ่งเป็นบริษัทแม่ และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่บริษัทได้รับจากบริษัทแม่ด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจสัตว์บกแบบครบวงจรในประเทศไทยของกลุ่ม CPF โดยที่อันดับเครดิตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของ CPF เป็นสำคัญ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใดใดที่เกี่ยวเนื่องกับอันดับเครดิตของ CPF ก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

CPFTH เป็นบริษัทย่อยที่ CPF ถือหุ้นในสัดส่วน 99.98% บริษัทก่อตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยการรวมบริษัทย่อยของ CPF จำนวน 10 บริษัทที่ประกอบธุรกิจสัตว์บกในประเทศไทยเข้าด้วยกัน ทำให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินธุรกิจสัตว์บกที่ครบวงจรโดยครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจอาหาร

บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจสัตว์บกของประเทศโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจอาหารสัตว์ภายในประเทศประมาณ 1 ใน 3 และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจไก่และสุกรประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณที่ผลิตภายในประเทศ ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจอาหาร ในปี 2559 ธุรกิจเลี้ยงสัตว์สร้างรายได้มากที่สุดโดยคิดเป็นสัดส่วน 50% ของรายได้รวมของบริษัท รองลงมาคือธุรกิจอาหารสัตว์ (25%) และธุรกิจอาหาร (25%) รายได้ประมาณ 84% ของบริษัทมาจากการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 ช่องทางการจำหน่ายของบริษัทประกอบด้วยซุ้มขาย “ไก่ย่าง 5 ดาว" จำนวน 4,876 แห่ง ร้าน “ซีพี เฟรช มาร์ท" 412 สาขา และร้าน “ซีพี คิทเช่น" และ “ซีพี ฟู้ดเวิลด์" รวมอีก 16 สาขา นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของรายได้รวมของบริษัทอีกด้วย โดยเป็นการส่งออกทางอ้อมผ่าน บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่งของ CPF

CPFTH เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ CPF ในการดำเนินธุรกิจสัตว์บกครบวงจรในประเทศไทย ในปี 2559 บริษัทมีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 31% ของรายได้รวมของ CPF และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคิดเป็นสัดส่วน 22% ของ CPF นอกจากนี้ CPF ยังมีส่วนในการกำหนดทิศทางของบริษัทโดยการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของตนมาเป็นผู้บริหารของบริษัทอีกด้วย

บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในปี 2559 หลังการฟื้นตัวจากวงจรขาลงของธุรกิจสัตว์บกในปี 2558 ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากราคาสุกรที่เพิ่มขึ้น อุปสงค์ที่แข็งแกร่งของไก่ในตลาดส่งออก รวมทั้งการลดลงของราคาอาหารสัตว์ รายได้ของบริษัทในปี 2559 เพิ่มขึ้น 4.6% จากปีก่อนหน้าเป็น 142,190 ล้านบาท อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 7% ในปี 2559 เพิ่มขึ้นจาก 3.8% ในปี 2558 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ 11,178 ล้านบาทในปี 2559 เพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 6,220 ล้านบาทในปีก่อนหน้า

แม้ว่ากำไรจะปรับตัวดีขึ้น แต่ภาระหนี้สินของบริษัทก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยหนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 33,626 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 เป็น 61,979 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 ทั้งนี้ ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมานั้นเนื่องมาจากบริษัทได้นำเงินที่ได้จากการออกตราสารหนี้และตั๋วแลกเงินไปปล่อยกู้ให้แก่บริษัทในเครือเป็นวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แต่อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทก็ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ การเพิ่มทุนจาก CPF จำนวน 10,511 ล้านบาทในช่วงกลางปี 2559 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 62.3% ณ สิ้นปี 2559 เทียบกับระดับ 62.5% ณ สิ้นปี 2558 กระแสเงินสดส่วนเกินสำหรับรองรับการชำระหนี้ของบริษัทก็ยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอ ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 18.7% ในปี 2559 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 20.5% ในปี 2558

ในอนาคตคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับแรงกดดันจากราคาสุกรที่ลดลงมาก อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงของต้นทุนอาหารสัตว์จะช่วยบรรเทาผลกระทบลงได้บางส่วน นอกจากนี้ บริษัทยังคงได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของไก่ในตลาดส่งออกจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศ ได้แก่ ยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน และเกาหลีใต้

ภายใต้สมมติฐานกรณีฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าในปี 2560-2562 รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 140,000-160,000 ล้านบาท และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 10,000-12,000 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน โดยบริษัทมีวางงบประมาณสำหรับการลงทุนขยายงานจำนวนประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี จากประมาณการกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายและงบลงทุนดังกล่าวคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 60% ในช่วงปี 2559-2561 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับ 4-5 เท่า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะอยู่ที่ระดับ 15%-20% ในช่วงเวลาเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ