ฟิทช์ เรทติ้งส์ มองว่าการชนะการยื่นข้อเสนอในการเป็นคู่ค้าในการให้บริการสื่อสารไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT มีความสำคัญต่อ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) (BBB/AA(tha)/Stable) เนื่องจากจะช่วยเพิ่มจำนวนคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะสั้น
อย่างไรก็ตามสัญญาดังกล่าวโดยลำพัง ไม่น่าจะทำให้ความเสี่ยงจากคลื่นความถี่ที่กำลังจะหมดอายุลง หมดไปทั้งหมด เนื่องจาก DTAC ยังคงต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติมในช่วงสองปีข้างหน้า เพื่อรองรับการเติบโตของการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
TOT ได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้ารับรายละเอียดเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal) ในการเป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ในเดือน ก.พ.60 โดยผู้สนใจจะต้องยื่นข้อเสนอแก่ TOT ภายในเดือน มี.ค. และ TOT จะพิจารณาคัดเลือกคู่ค้าภายใน 60 วัน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน พ.ค.60 ฟิทช์คาดว่าเงื่อนไขของการพิจารณาของ TOT จะรวมถึงผลตอบแทนและรายละเอียดการขยายโครงข่ายในช่วง 8 ปีของสัญญา
ฟิทช์คาดว่า DTAC น่าจะมีโอกาสเป็นผู้ชนะในการยื่นข้อเสนอ ท่ามกลางผู้ประกอบการเอกชนทั้งสามรายที่เข้าร่วม โดย DTAC เป็นผู้ที่ต้องการคลื่นความถี่มากที่สุด ดังนั้นบริษัทน่าจะเสนอผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับ TOT
DTAC มีความจำเป็นต้องมีคลื่นความถี่ใหม่ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อทดแทนคลื่นความถี่ปัจจุบันจำนวน 35 MHz จากทั้งหมด 50 MHz ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 61 ตามสัญญาสัมปทาน ในขณะที่คลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 15 MHz ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาต ไม่น่าจะเพียงพอในการรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
ฟิทช์เชื่อว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ DTAC สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้แก่คู่แข่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มาจากการที่ DTAC มีความเสียเปรียบด้านคลื่นความถี่ ดังนั้น จำนวนคลื่นความถี่ และการลงทุนในการขยายโครงข่าย ที่มากขึ้น น่าจะช่วยให้คุณภาพของเครือข่ายดีขึ้น และทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดและรายได้ ลดลงในอัตราที่ช้าลง
ถึงแม้ว่า DTAC จะได้เข้าทำสัญญาในการเป็นคู่ค้าสำหรับคลื่นความถี่ 2300 MHz ฟิทช์คาดว่าบริษัทยังคงต้องเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 850 MHz ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในปี 61 เนื่องจากบริษัทยังคงต้องใช้คลื่นความถี่ทั้งสองในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G และ 4G อยู่ นอกจากนี้เครื่องโทรศัพท์ที่ใช้กับคลื่นความถี่ 2300 MHz ยังมีจำนวนน้อยในประเทศไทย ดังนั้น DTAC อาจต้องเสนอส่วนลดค่าเครื่องที่สูงเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้บริการย้ายไปใช้คลื่นความถี่ใหม่
ฟิทช์คาดว่าสัญญาระหว่างผู้ประกอบการเอกชน และ TOT น่าจะต้องมีการชำระค่าตอบแทนเป็นรายปีให้แก่ TOT สำหรับสิทธิ์ในการใช้คลื่นความถี่ 2300 MHz เช่นเดียวกันกับสัญญาคู่ค้าระหว่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) (BBB+/AA+(tha)/Stable) และ TOT สำหรับคลื่นความถี่ 2100 MHz ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวอาจกดดันกระแสเงินสดของ DTAC ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม DTAC มีอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรที่อยู่ในระดับต่ำ และบริษัทได้ประกาศงดจ่ายเงินปันผลประจำปีจากผลประกอบการปี 59 ดังนั้นฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) น่าจะยังคงอยู่ต่ำกว่า 2.5 เท่า (ณ สิ้นปี 59 อยู่ที่ 1.9 เท่า) ซึ่งยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน