นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ขณะนี้ มีผู้มายื่นขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่ให้บริการเป็นการทั่วไปผ่านดาวเทียม (Must Carry) นำใบเสร็จมายื่นเป็นหลักฐานและได้รับอนุมัติแล้ว 15 ราย
ได้แก่ 1.สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก วงเงิน 2.77 ล้านบาท 2. บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด วงเงิน 2.83 ล้านบาท 3.บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด วงเงิน 2.83 ล้านบาท 4.บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด วงเงิน 2.70 ล้านบาท 5.บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด วงเงิน 2.83 ล้านบาท 6.บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด วงเงิน 2.84 ล้านบาท 7.บริษัท บางกอกมีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด วงเงิน 2.85 ล้านบาท
8.บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด วงเงิน 2.85 ล้านบาท 9.บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด วงเงิน 2.85 ล้านบาท 10.บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด วงเงิน 2.84 ล้านบาท 11.บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด วงเงิน 2.60 ล้านบาท 12.บริษัท อาร์.เอส. เทเลวิชั่น จำกัด วงเงิน 2.84 ล้านบาท 13.บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด วงเงิน 2.85 ล้านบาท 14.บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์วิชั่น จำกัด วงเงิน 2.57 ล้านบาท และ15.บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด วงเงิน 2.85 ล้านบาท
ในขณะที่อีก 3 ราย คือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาสาธารณะแห่งประเทศไทย บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด และ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติ
ทั้งนี้ ยังมีผู้ประกอบการอีก 5 รายที่ยังไม่ได้มายื่นขอรับการสนับสนุน ได้แก่ 1.กรมประชาสัมพันธ์ 2.สภาผู้แทนราษฎร 3.บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (3ช่อง) 4.บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด และบมจ. อสมท (MCOT) (2 ช่อง) ขอให้รีบยื่นขอรับการสนับสนุนเข้ามา