PTT จับมือสวทช.พัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ จ.ระยอง เป็นเขตนวัตกรรม EEC

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 5, 2017 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าร่วมเป็นเกียรติใน “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก" ณ ห้องประชุมอาคารที่พักผู้โดยสาร การท่าอากาศยานอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมี นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) และนายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามความร่วมมือการใช้พื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ ของ ปตท. เพื่อสนับสนุนการพัฒนา “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก" (Eastern Economic Corridor of Innovation : EECi)

ทั้งนี้ ปตท. ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบนพื้นที่ 3,000 ไร่ ณ วังจันทร์วัลเล่ย์ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาด้านวิจัยและวิทยาศาสตร์ ได้แก่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และ สถาบันวิทยาสิริเมธี ให้เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม โดยผนวกแนวคิดทางด้านนวัตกรรม (Innovation) และระบบนิเวศ (Eco System) เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่ง ปตท. ได้ก่อสร้างแนวถนนหลัก รวมถึงจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวในเบื้องต้นแล้ว

ปตท. และ สวทช.จะร่วมกันพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์วิจัยแห่งนวัตกรรม ปรับปรุงกระบวนการผลิตระดับห้องปฏิบัติการไปสู่กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ครบวงจร ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นทางถึงปลายทาง โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกจะเป็นการพัฒนาร่วมกับ สวทช. บนพื้นที่ประมาณ 350 ไร่ และการพัฒนาพื้นที่แบ่งออกเป็น 3 พื้นที่หลัก ได้แก่

1.พื้นที่กลุ่มอาคารงานวิจัยและทดสอบ (Buildable Area & Test Bed) พัฒนาโดย สวทช. เป็นหลัก โดยมีบริษัทในกลุ่ม ปตท. อาทิ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และบมจ.โกลบอล กรีนเคมิคอล (GGC) ให้การสนับสนุน 2.พื้นที่ส่วนกลางและการพาณิชย์ (Recreation Area & Commercial Zone) 3.พื้นที่พัฒนาเพื่อความยั่งยืนและพื้นที่สีเขียว (Sustainable and Usable Green Area)

ทั้งนี้ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. เป็นผู้ดำเนินการติดตั้ง Solar farm เพื่อผลิตพลังงานใช้ภายในพื้นที่ด้วย

นายณรงค์ กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EECi ในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนในเขตพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางของการพัฒนานวัตกรรมของอาเซียน (Asean Innovation Hub) ในอนาคต และตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป

ขณะที่นายเทวินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปตท. พร้อมให้ความสนับสนุนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ตามกรอบความร่วมมือ เพื่อพัฒนาและผลักดันให้ EECi บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างประชารัฐอย่างเป็นเอกภาพ โดยในพื้นที่ส่วนที่ 2 และ 3 ยังเปิดพื้นที่ให้เอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมพัฒนาด้วย เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ