ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร EA ที่ BBB+, หุ้นกู้ที่ A- และ AA แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 7, 2017 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ที่ระดับ “BBB+" ในขณะเดียวกันทริสเรทติ้งก็คงอันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทที่ระดับเดิมด้วย โดยหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนอยู่ที่ระดับ “A-" และหุ้นกู้มีการค้ำประกันอยู่ที่ระดับ “AA" โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

ทั้งนี้ หุ้นกู้ทั้งหมดค้ำประกันโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับสากล (international scale)ที่ระดับ “BBB+" จาก S&P Global Ratings และระดับ “Baa1" จาก Moody’s Investors Service (Moody’s) ในการนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์จะค้ำประกันการจ่ายเงินในสัดส่วน 65% ของมูลค่าเงินต้นและดอกเบี้ยของหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนและในสัดส่วน 100% ของมูลค่าเงินต้นและดอกเบี้ยของหุ้นกู้มีการค้ำประกัน โดยเป็นการค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของหุ้นกู้มีการค้ำประกันดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานความน่าเชื่อถือของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยภาระผูกพันของผู้ค้ำประกันภายใต้สัญญาการค้ำประกันนี้จะมีลำดับของสิทธิเรียกร้องเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิอื่น ๆ ของผู้ค้ำประกัน

อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทสะท้อนถึงการมีกระแสเงินสดจำนวนมากและมีเสถียรภาพจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreements -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงในการก่อสร้างและการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโครงสร้างเงินทุนที่มีระดับเงินกู้สูงตามแผนการลงทุนของบริษัท แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทจะยังคงสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอตามที่วางแผนไว้ โดยบริษัทควรรักษาประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าโดยเฉลี่ยให้อยู่ระดับไม่ต่ำกว่า 79% และคาดว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้ง 2 โครงการและมีผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ หากมีการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตก็คาดว่าบริษัทจะมีการเพิ่มทุนเพื่อรักษาโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสมเอาไว้

อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากโรงไฟฟ้าพลังงานลมหรือโครงการหาดกังหันเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าและมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามที่คาดไว้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลประกอบการของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมต่ำกว่าที่คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญและส่งผลให้บริษัทไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดจากธุรกิจไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง หรือหากสถานะการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจากการลงทุนโดยใช้เงินกู้จำนวนมาก

อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทสะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของผู้ค้ำประกันคือธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งได้รับอันดับเครดิตในระดับสากล (International Scale) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" จาก S&P Global Ratings และระดับ “Baa1" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" จาก Moody’s ส่วนอันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนสะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของทั้งผู้ค้ำประกันและบริษัทเองโดยอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพเครดิตของผู้ค้ำประกันหรือของบริษัท

EA เดิมชื่อ บริษัท ซันเทค ปาล์มออยส์ จำกัด บริษัทก่อตั้งในปี 2549 เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล ต่อมาบริษัทได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ในปี 2551 และในช่วงปลายปี 2555 บริษัทได้เริ่มขยายงานไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนโดยเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ในปี 2559 ธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้กลายมาเป็นธุรกิจหลักของบริษัทและสร้างอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ถึง 90% จากทั้งหมด 5,460 ล้านบาท บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) ในปี 2556 และย้ายไปสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนมกราคม 2560 ณ เดือนธันวาคม 2559 บริษัทมีนายสมโภชน์ อาหุนัยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 43% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 664 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าที่มีการจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 4 โครงการซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 278 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมจำนวน 2 โครงการซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 386 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ความเข้มแข็งของอันดับเครดิตของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีสัญญา PPA กับ กฟผ. ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer -- SPP) 3 โครงการจำนวนรวม 270 เมกะวัตต์ซึ่งได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่อัตรา 6.5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงเป็นเวลา 10 ปี

ในปี 2559 ภาพรวมของการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทอยู่ในระดับที่ดี บริษัทผลิตไฟฟ้าได้ทั้งหมดจำนวน 567 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 395 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 43% อันเป็นผลเนื่องมาจากการที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โรงสุดท้ายที่จังหวัดพิษณุโลกได้เริ่มการผลิต ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัททั้ง 4 โรงสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงกว่าประมาณการราว 6.7% เมื่อใช้ความน่าจะเป็นที่ 90% หรือ P90 ในขณะที่ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า (Performance Ratio) นั้นอยู่ในระดับที่น่าพอใจโดยมีค่าสูงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดหมายไว้ที่ 79%

บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมจำนวน 2 โครงการซึ่งประกอบด้วยโครงการหาดกังหัน (HKH) ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญาอยู่ที่ 126 เมกะวัตต์ และโครงการหนุมาน (HNM) ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญาอยู่ที่ 260 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านการก่อสร้างของโครงการหาดกังหันนั้นลดน้อยลง เนื่องจากการก่อสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานลมย่อยแห่งแรกในโครงการหาดกังหันซึ่งมีกำลังการผลิต 36 เมกะวัตต์ได้เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าแล้วเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ในขณะที่อีก 2 โครงการย่อยที่เหลือจำนวนกำลังการผลิตรวม 90 เมกะวัตต์คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปลายเดือนเมษายนนี้

ส่วนโครงการหนุมานนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มดำเนินการล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงกลางปี 2561 ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทจำเป็นต้องรอการอนุมัติจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องว่าโครงการจะสามารถก่อสร้างบนพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าของโครงการหนุมานนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตเนื่องจากโครงการดังกล่าวนั้นยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้างและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีมูลค่าน้อยมาก

อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัทด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการยังอยู่ในช่วงของการก่อสร้าง นอกจากนี้ การดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานลมยังมีความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของความแรงของกระแสลมมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้และเสถียรภาพของกระแสเงินสดจากโครงการด้วย

ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งอยู่บนสมมุติฐานว่าโครงการหนุมานจะสามารถเริ่มดำเนินการได้โดยให้มีความล่าช้ากว่าแผนเดิมประมาณ 1 ปี อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 55%-60% ในระหว่างปี 2560-2562 กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเติบโตขึ้นเป็น 7,500 ล้านบาทหลังจากโครงการหาดกังหันเริ่มผลิตไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่และน่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปถึงเกือบ 10,000 ล้านบาทหากโรงไฟฟ้าหนุมานก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มผลิตไฟฟ้าได้

โครงสร้างทางการเงินของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับเดิมในอีก 2 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนสำหรับโครงการหนุมานซึ่งมีมูลค่าถึง 20,000 ล้านบาทคาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายในช่วงระหว่างปี 2560-2561 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 70% ในปี 2561 และหลังจากนั้นจะปรับตัวดีขึ้นโดยเหลืออยู่ที่ประมาณ 55%-60% ตามแผนในการชำระเงินต้น ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 15%-20%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ