ฟิทช์ คงเครดิตระยะยาวสกุลเงินตปท.-ในปท.ของ PTT ที่ระดับ BBB+/AAA(tha) แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 7, 2017 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของบมจ. ปตท. (PTT) หรือ ปตท. ที่ระดับ ‘BBB+’ และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

การคงอันดับเครดิตและอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของ ปตท. ที่ระดับ ‘BBB+’ สะท้อนถึงความเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจร รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ แม้ว่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยังคงเผชิญกับความท้าทายอยู่ อัตราส่วนหนี้สิน ณ ปัจจุบันของบริษัทฯ ที่ต่ำ น่าจะช่วยรองรับการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากการแก้ปัญหาเรื่องปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ลดลง โดยไม่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสูงจนกระทบอันดับเครดิต ปัจจุบันอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทย

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยังคงเผชิญความท้าทายอยู่ ฟิทช์คาดว่าสถานะของปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัทฯ น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในกลุ่ม ‘BBB’ โดยปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว (proved reserves) ของบริษัทฯ ยังคงลดลงในปี 2559 แม้ว่าบริษัทฯ จะมีปริมาณทรัพยากร (contingent resources) อยู่เป็นจำนวนมากที่สามารถเปลี่ยนมาเป็นปริมาณสำรองได้ในอนาคตด้วยการลงทุนที่เพียงพอ อย่างไรก็ตามสถานะของปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วจากแหล่งที่มีอยู่ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ในระยะเวลาสองถึงสามปีข้างหน้า

นอกจากนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัทฯ มีแนวโน้มที่ลดลงในปี 2560-2563 นอกเสียจากจะมีการเพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการแหล่งผลิตใหม่ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมน่าจะเริ่มทรงตัวและปรับตัวดีขึ้นในปี 2560-2561 เนื่องจากฟิทช์คาดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อตลาดเริ่มกลับมามีเสถียรภาพ

ปตท. เผชิญกับความเสี่ยงจากการที่สัมปทานแหล่งบงกชจะหมดอายุในปี 2565-2566 ซึ่งถ้าบริษัทฯ เสียการถือครองแหล่งนี้ไป น่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทฯ ทั้งทางด้านปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยในปี 2559 บริษัทมีปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชคิดเป็นร้อยละ 24 ของการผลิตทั้งหมด ซึ่งจะทำให้สถานะทางธุรกิจของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทฯ อ่อนแอลงไปอีกได้

นอกจากนี้บริษัทฯ อาจจะต้องมีการจ่ายเงินในจำนวนที่สูงเพื่อต่ออายุสัมปทาน เนื่องจากมูลค่าของแหล่งนี้น่าจะสูง ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นแหล่งที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว ในขณะที่ราคาน้ำมันจะค่อยๆปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ฟิทช์มองว่า พรบ. ปิโตรเลียม ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่งผ่านร่างฯ มีการกำหนดรูปแบบการต่ออายุสัมปทานและการให้สัมปทานแหล่งใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนรูปแบบการให้สัมปทานจากระบบการให้สัมปทานแบบปัจจุบัน

โดยกระทรวงพลังงานกล่าวว่าน่าจะมีการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอประมูลแหล่งบงกชได้ในเดือนกรกฎาคม 2560 และคาดว่าจะประกาศผลผู้ชนะได้ในเดือนธันวาคม 2560 ฟิทช์มองว่า บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท. สผ. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในแหล่งบงกชในปัจจุบันน่าจะมีความได้เปรียบในการประมูล แม้ว่าจะไม่เป็นการรับประกันว่าบริษัทจะได้ต่ออายุสัมปทานก็ตาม

อัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำรองรับการลงทุน โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ของปตท. ปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.1 เท่าในปี 2559 จาก 1.8 เท่าในปี 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูงกว่าที่คาด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผลการดำเนินงานจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจขั้นปลายที่แข็งแกร่ง รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่ลดลง ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวน่าจะคงอยู่ที่ระดับนี้ในปี 2560-2561 แม้ว่าบริษัทฯ จะมีการเพิ่มการลงทุนก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่ต่ำ ณ ปัจจุบัน จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับการลงทุนรวมถึงการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยไม่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสูงเกินระดับที่เหมาะสมสำหรับอันดับเครดิตปัจจุบัน

ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนของบริษัทฯ และบริษัทย่อย น่าจะปรับเพิ่มขึ้นในปี 2560 หลังจากที่มีการปรับลดลงในช่วงปี 2558-2559 การฟื้นตัวของราคาน้ำมันน่าจะทำให้บริษัทฯ เพิ่มการลงทุนในปี 2560-2561 เพื่อสนับสนุนการเติบโตของบริษัทฯ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามบริษัทฯ จะยังคงระมัดระวังในเรื่องการลงทุน โดยแผนการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2560-2564) ของ ปตท. สผ. ยังคงต่ำกว่าแผนการลงทุน 5 ปี (2559-2563) ในปีก่อนหน้า

อันดับเครดิตของ ปตท. สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรของบริษัทฯ และความมีเสถียรภาพจากการที่ ปตท. มีขนาดธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำที่มีขนาดใหญ่และมั่นคง ธุรกิจเหล่านี้ช่วยลดผลกระทบจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ลดลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซที่มีความสม่ำเสมอ สถานะทางการเงินของ ปตท. ได้รับประโยชน์จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีความสม่ำเสมอ อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่อง และสัญญาการจัดจำหน่ายระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงโครงสร้างราคาที่สามารถส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าได้ อัตราการทำกำไรของธุรกิจท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ และการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซ ไม่อ่อนไหวต่อความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากนัก อย่างไรก็ตามกำไรจากธุรกิจโรงแยกก๊าซและการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม เผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงกว่า เนื่องจากการปรับราคาของต้นทุนก๊าซธรรมชาติตามสัญญาการซื้อขายระยะยาว จะช้ากว่าการปรับราคาของราคาผลิตภัณฑ์

ฟิทช์จัดอันดับเครดิต ปตท.โดยเริ่มจากการพิจารณาเครดิตของ ปตท. โดยลำพัง แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-up basis) ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทใหญ่กับบริษัทย่อย (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) โดยฟิทช์จะให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. ในกรณีที่อันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. ต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทยที่ ‘BBB+’ เพื่อสะท้อนถึงการสนับสนุนของภาครัฐต่อ ปตท. ซึ่งเป็นผลจากการที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ปตท.

อันดับเครดิตของ ปตท. สะท้อนถึงความเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจร แม้ว่าสถานะทางธุรกิจของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทฯ จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตที่ ‘BBB+’ ในด้านปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรไปถึงธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำ รวมถึงธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นหลักซึ่งมีความผันผวนที่น้อยกว่า เป็นปัจจัยที่ช่วยสนันสนุนอันดับเครดิตของบริษัทฯ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงขนาดธุรกิจที่มีขนาดกลางโดยเปรียบเทียบ

ปตท.มีขนาดธุรกิจที่เล็กมากเมื่อเทียบกับบริษัท China National Petroleum Corporation (อันดับเครดิต A+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และบริษัท Petroliam Nasional Berhad (PETRONAS, อันดับเครดิต A- แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งอันดับเครดิตของบริษัททั้งสองถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตของประเทศ ปตท. มีขนาดธุรกิจใกล้เคียงกับบริษัท OMV AG (อันดับเครดิต A- แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) และบริษัท Repsol, S.A. (อันดับเครดิต BBB แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) แต่มีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ปตท. มีอัตราส่วนทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า Repsol

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 52.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2560, 55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2561, 60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2562 และ 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2563 เป็นต้นไป;
  • ปริมาณการขายและการผลิตของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ลดลงในปี 2560-2561 แต่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เริ่มทรงตัวในปี 2560 และปรับตัวดีขึ้นในปี 2561;
  • EBITDA จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติยังคงแข็งแกร่งในปี 2560;
  • EBITDA จากธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันลดลงในปี 2560 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง;
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2560-2561;
  • ไม่รวมการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีความสามารถในการรองรับการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินสำหรับการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการได้ในระดับหนึ่ง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก

  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทยโดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันยังคงเหมือนเดิม
  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. ไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า เนื่องจากความอ่อนแอของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยเฉพาะสถานะปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ปัจจัยลบ

  • การปรับลดอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. รวมไปถึง:

  • การลงทุนจำนวนมากโดยใช้เงินกู้ยืม และ/หรือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัดจาก FFO adjusted net leverage ที่สูงกว่า 2.8 เท่า
  • สถานะทางการเงินของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่อ่อนแอลง ซึ่งวัดจาก FFO adjusted net leverage ที่สูงกว่า 2.5 เท่า และการที่ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า
  • การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อ ปตท.

สำหรับอันดับเครดิตของประเทศไทย มีปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ซึ่งได้แสดงไว้ในรายงานเครดิตลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ดังนี้

ปัจจัยบวก:

  • การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าที่คาดการณ์อย่างต่อเนื่องโดยไม่ทำให้เกิดการขาดดุล
  • การบรรเทาลงของความกดดันทางการเมืองและสังคม ในระดับที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายภาครัฐในการบริหารประเทศและดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ปัจจัยลบ:

  • ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ในระดับที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
  • การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของหนี้สินของรัฐบาล เช่น เนื่องจากฐานะทางการคลังที่แย่ลง หรือการเพิ่มขึ้นอย่างมากของหนี้สาธารณะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (contingent liabilities)

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของ ปตท. สะท้อนถึงเงินสดที่มีอยู่จำนวนมากถึง 3.7 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 เมื่อเทียบกับหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 9.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีภาระการชำระคืนหนี้ที่จัดการได้ง่าย โดยมีอายุเฉลี่ยของหนี้ที่ครบกำหนดชำระประมาณ 7.3 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ