บมจ.การบินไทย (THAI) และ บมจ.กรุงเทพการบิน (BA) ได้ร่วมทำพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือระหว่างกันบนเที่ยวบินร่วม (Codeshare) เพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายเส้นทางบิน รวมทั้งรองรับการขยายช่องทางการขาย และเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารในเส้นทางบินเชื่อมต่อของทั้ง 2 สายการบินให้มากขึ้น
โดยความร่วมมือเที่ยวบินร่วม (Codeshare) ในเส้นทางดังต่อไปนี้
- เที่ยวบินที่ทำการบินโดยสารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส
1. เส้นทางบินภายในประเทศ 10 เส้นทางบิน ได้แก่ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-สมุย, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-เชียงราย, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-กระบี่, กรุงเทพฯ-ลำปาง, กรุงเทพฯ-สุโขทัย, กรุงเทพฯ-ตราด, เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน และสมุย-ภูเก็ต
2. เส้นทางบินระหว่างประเทศ 4 เส้นทางบิน ได้แก่ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ดานัง ประเทศเวียดนาม, กรุงเทพฯ-หลวงพระบาง ประเทศลาว, กรุงเทพฯ-มัลดีฟส์ (มาเล่) สาธารณรัฐมัลดีฟส์ และกรุงเทพฯ-เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา
- เที่ยวบินที่ทำการบินโดยสายการบินไทย
เส้นทางบินระหว่างประเทศ ได้แก่ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ และเส้นทางในอนาคตอื่นๆ อยู่ในระหว่างการพิจารณา
นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI ระบุว่า ทั้งการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ส ต่างเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันมายาวนายกว่า 20 ปี และมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในลักษณะการขายเที่ยวบินเชื่อมต่อ (Interline Agreement) ซึ่งผู้โดยสารสามารถซื้อบัตรโดยสารและเดินทางในเส้นทางที่มีความเชื่อมต่อกันระหว่างการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์สได้อย่างสะดวกสบาย
ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายเส้นทางบินของสายการบินทั้งสอง จึงได้มีการพัฒนาความร่วมมือในรูปแบบเที่ยวบินร่วม หรือ Codeshare เพื่อรองรับการขยายช่องทางการขายและพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารในเส้นทางบินของทั้ง 2 สายการบินให้มากยิ่งขึ้น
"นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสายการบินของคนไทย รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจและช่วยนำรายได้จากการนำนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอาเซีนต่อไป" นางอุษณีย์ กล่าว
ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA ระบุว่า ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่บางกอกแอร์เวย์สได้ทำความตกลงในความร่วมมือบนเที่ยวบินร่วมกับการบินไทยที่เป็นสายการบินแห่งชาติ และเป็นสายการบินชั้นนำของโลกที่มีมาตรฐานการบริการในระดับสากล และมีเส้นทางบินครอบคลุมกว่า 61 จุดหมายปลายทางทั่วโลก ในขณะที่บางกอกแอร์เวย์ส เป็นสายการบินที่มีเส้นทางบินเข้าสู่ภูมิภาคโดยเฉพาะอาเซียนครอบคลุมมากกว่า 12 จุดหมายปลายทางในประเทศ และอีก 16 จุดหมายปลายทางในต่างประเทศ และยังมีการพัฒนาเพิ่มจุดบินอย่างต่อเนื่อง
"ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างเครือข่ายเส้นทางบินในรูปแบบพันธมิตรการบินของทั้ง 2 สายการบินให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และยังเป็นการสร้างศักยภาพด้านการบริการของสายการบินของไทย และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินไทยภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย" นายพุฒิพงศ์ กล่าว