(เพิ่มเติม1) THAI คาดหวังทำ Code Share กับ BA ช่วยดันยอดขายตั๋วปีนี้โต 20-30%, เล็งนำ"ไทยสมายล์"ร่วมภายในปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 10, 2017 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินไทย (THAI) และ บมจ.กรุงเทพการบิน (BA) ได้ร่วมทำพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือระหว่างกันบนเที่ยวบินร่วม (Codeshare) เพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายเส้นทางบิน รวมทั้งรองรับการขยายช่องทางการขาย และเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารในเส้นทางบินเชื่อมต่อของทั้ง 2 สายการบินให้มากขึ้น

โดยความร่วมมือเที่ยวบินร่วม (Code Share) ในเส้นทางดังต่อไปนี้

  • เที่ยวบินที่ทำการบินโดยสารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส

1. เส้นทางบินภายในประเทศ 10 เส้นทางบิน ได้แก่ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-สมุย, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-เชียงราย, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-กระบี่, กรุงเทพฯ-ลำปาง, กรุงเทพฯ-สุโขทัย, กรุงเทพฯ-ตราด, เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน และสมุย-ภูเก็ต

2. เส้นทางบินระหว่างประเทศ 4 เส้นทางบิน ได้แก่ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ดานัง ประเทศเวียดนาม, กรุงเทพฯ-หลวงพระบาง ประเทศลาว, กรุงเทพฯ-มัลดีฟส์ (มาเล่) สาธารณรัฐมัลดีฟส์ และกรุงเทพฯ-เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา

  • เที่ยวบินที่ทำการบินโดยสายการบินไทย

เส้นทางบินระหว่างประเทศ ได้แก่ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ และเส้นทางในอนาคตอื่นๆ อยู่ในระหว่างการพิจารณา

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI ระบุว่า ทั้งการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ส ต่างเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันมายาวนายกว่า 20 ปี และมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในลักษณะการขายเที่ยวบินเชื่อมต่อ (Interline Agreement) ซึ่งผู้โดยสารสามารถซื้อบัตรโดยสารและเดินทางในเส้นทางที่มีความเชื่อมต่อกันระหว่างการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์สได้อย่างสะดวกสบาย

ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายเส้นทางบินของสายการบินทั้งสอง จึงได้มีการพัฒนาความร่วมมือในรูปแบบเที่ยวบินร่วม หรือ Codeshare เพื่อรองรับการขยายช่องทางการขายและพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารในเส้นทางบินของทั้ง 2 สายการบินให้มากยิ่งขึ้น

"นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสายการบินของคนไทย รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจและช่วยนำรายได้จากการนำนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอาเซีนต่อไป" นางอุษณีย์ กล่าว

นางอุษณีย์ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างเที่ยวบินร่วม (Code Share) ระหว่างการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ส เพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายเส้นทางบินของทั้งสองสายการบิน และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารของทั้งสองสายการบิน ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่บริษัทคำนึงถึง ประกอบกับเป็นการรองรับช่องทางการขายให้เพิ่มขึ้น ซึ่งการบินไทยคาดว่าการร่วมมือการบางกอกแอร์เวย์สในครั้งนี้ จะทำให้ยอดขายตั๋วโดยสารของการบินไทยสามารถเติบโตได้ 20-30% ในปีนี้ จากปีก่อนที่บริษัทมีรายได้จากการขายตั๋วโดยสารราว 1.7 แสนล้านบาท

โดยเส้นทางการบินของบางกอกแอร์เวย์สที่มีการเปิดให้บริการอยู่แล้วทั้งในและต่างประเทศ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่การบินไทยต้องการให้เกิดความเชื่อมโยง เพื่ออำนวยความสะดวกของผู้โดยสารและขยายเส้นทางการบินในเส้นทางที่การบินไทยไม่ได้เปิดให้บริการ อย่างเช่น กรุงเทพ-สุโขทัย, เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน, กรุงเทพ-มัลดีฟส์ (มาเล่) รวมไปถึงการการเชื่อมโยงการเดินทางบนเส้นทางการบินของเที่ยวบินจากเกาะสมุย เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกและสามารถเดินทางไปจุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

"ความร่วมมือระหว่างการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์สในครั้งนี้ เรานึกถึงการให้บริการกับผู้โดยสารที่จะมีความสะดวกสบายมากขึ้นตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง และเป็นโอกาสของทั้ง 2 สายการบินที่จะผนึกกำลังร่วมกันเพิ่มความแข็งแกร่งของเส้นทางการบินและเป็นการเสริมซึ่งกันและกัน ส่วนในด้านของการเพิ่มรายได้ไม่ได้คาดหวังไว้มากนัก แต่การทำ Code Share ร่วมกันก็เป็นโอกาสที่การบินไทยจะสามารถขยายช่องทางการขายตั๋วได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าการร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถดันยอดขายตั๋วโดยสารในปีนี้โต 20-30% ได้" นางอุษณีย์ กล่าว

ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะนำสายการบินไทยสมายล์ (THAI SMILE) ซึ่งเป็นสายการบินลูกของการบินไทย ทำความร่วมมือระหว่างเที่ยวบินร่วม (Code Share) กับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขยายเส้นทางการบินของไทยสมายล์ให้มีเส้นทางการบินเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาเกี่ยวกับความเป็นไปได้และเสินทางการบินที่จะทำ Code Share ที่เหมาะสมกับบางกอกแอร์เวย์ส

ส่วนการบินไทยที่ทำ Code Share กับบางกอกแอร์เวยส์ ในระยะแรกจะมีเส้นทาง Code Share ทั้งหมด 14 เส้นทาง แบ่งเป็น เส้นทางในประเทศ 10 เส้นทาง และเส้นทางระหว่างประเทศ 4 เส้นทาง และในอนาคตจะค่อยๆ ขยายเส้นทาง Code Share ให้เพิ่มขึ้น

ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA ระบุว่า ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่บางกอกแอร์เวย์สได้ทำความตกลงในความร่วมมือบนเที่ยวบินร่วมกับการบินไทยที่เป็นสายการบินแห่งชาติ และเป็นสายการบินชั้นนำของโลกที่มีมาตรฐานการบริการในระดับสากล และมีเส้นทางบินครอบคลุมกว่า 61 จุดหมายปลายทางทั่วโลก ในขณะที่บางกอกแอร์เวย์ส เป็นสายการบินที่มีเส้นทางบินเข้าสู่ภูมิภาคโดยเฉพาะอาเซียนครอบคลุมมากกว่า 12 จุดหมายปลายทางในประเทศ และอีก 16 จุดหมายปลายทางในต่างประเทศ และยังมีการพัฒนาเพิ่มจุดบินอย่างต่อเนื่อง

"ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างเครือข่ายเส้นทางบินในรูปแบบพันธมิตรการบินของทั้ง 2 สายการบินให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และยังเป็นการสร้างศักยภาพด้านการบริการของสายการบินของไทย และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินไทยภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย" นายพุฒิพงศ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ