สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน เม.ย.60 ว่า ภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย.60) อยู่ที่ 90.33 ปรับตัวลดลงแต่ยังอยู่ในภาวะทรงตัว โดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของตลาดหุ้นสหรัฐฯ หยุดชะงักลงจากความล้มเหลวในการผลักดันร่างกฎหมายประกันสุขภาพใหม่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ขณะที่ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ได้ประโยชน์จากการไหลเข้าของเงินทุน ด้านตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยตามภูมิภาค
นายคเณศ วังส์ไพจิตร เลขาธิการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวลงในทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลงจากระดับร้อนแรง มาอยู่ที่ระดับซบเซา กลุ่มสถาบันในประเทศปรับตัวลงจากระดับร้อนแรง มาอยู่ที่ระดับทรงตัว ขณะที่ดัชนีกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับทรงตัวเช่นเดียวกับเดือนที่ผ่านมา
สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์เป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความผันผวนของกระแสเงินทุนเข้า-ออก
นายคเณศ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดการโยกย้ายการลงทุนจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมายังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐที่ผิดหวังกับการเสนอร่างกฎหมายประกันสุขภาพใหม่ ของประธานาธิบดีทรัมป์ และตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการแข็งค่าของเงินเยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้น หลังประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้สัมภาษณ์ว่า เงินเฟ้อยุโรปที่เร่งตัวขึ้นในเดือน ก.พ.เป็นปัจจัยชั่วคราว เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ซึ่งหากขจัดผลดังกล่าวเงินเฟ้อยังห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่สถานการณ์การเมืองในเนเธอร์แลนด์ และ ฝรั่งเศส มีความผ่อนคลายมากขึ้น
ตลาดหุ้นจีนได้รับผลกระทบจากความพยายามลดความเสี่ยงในตลาดการเงินของรัฐบาล ผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน และ การเพิ่มหลักประกันของตราสารหนี้ภาคเอกชนในการของกู้ยืมระยะสั้น เพื่อลดปัญหาการกู้ยืนเพื่อไปลงทุนต่อในตลาดการเงิน ส่วนตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ได้รับประโยชน์จากการไหลเข้าของเงินทุน และความคาดหวังถึงนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจประสบปัญหาเดียวกันกับกฎหมายประกันสุขภาพใหม่"นายคเณศ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกในระยะถัดไป ได้แก่ ความคืบหน้าของนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะปฏิรูปภาษี ทั้งระบบภาษีภายในประเทศ และ Border Adjustment Tax การประชุมของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของสหรัฐ (FOMC) ที่อาจกล่าวถึงการลดขนาดงบดุลลง การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในช่วงปลายเดือน เม.ย.ซึ่งคาดว่าจะไม่มีผู้ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก จนต้องจัดให้มีการเลือกตั้งรอบตัดสินในเดือน พ.ค. การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศออกจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยง และ ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันหลังข้อตกลงการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบสิ้นสุดลงในเดือน มิ.ย.
ตลาดหุ้นไทยในเดือนที่ผ่านมาฟื้นตัวขึ้นตามภูมิภาค หลังจากปรับตัวลงในเดือน ก.พ.โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เห็นได้จากยอดการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในเดือน มี.ค. สอดคล้องกับตลาดหุ้นของประเทศอื่นๆในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากตลาดหุ้นไทย Outperform ตลาดอื่นๆค่อนข้างมากในปีก่อนหน้า อีกทั้งการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ยังเป็นแรงสนับสนุนกลุ่มประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพิงราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก ด้านปัจจัยภายในประเทศ ไม่ได้มีปัจจัยใหม่ๆ มากนัก
สำหรับหลักทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่นได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตร และปิโตรเคมี ซึ่งมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากปัจจัยหนุนต่างประเทศ และ กลุ่มสื่อสาร วัสดุก่อสร้าง และโรงพยาบาล ที่ฟื้นตัวหลังจากที่ปรับตัวลงในช่วงก่อนหน้า
นายคเณส กล่าวอีกว่า ในระยะถัดไป ตลาดหุ้นไทยน่าจะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ จากความไม่แน่นอนเรื่อง นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯอาจส่งผลกระทบต่อตลาดไม่มาก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ได้คาดการณ์ไว้แล้ว ความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศในกลุ่มยุโรปที่อาจกลับมาสร้างความผันผวนให้กับตลาดเป็นระยะ
ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภค จากความต้องการซื้อสินค้าที่ชะลอไว้ในช่วงไว้ทุกข์ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการปรับประมาณการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนลง และมูลค่าพื้นฐานของตลาดที่สูง อาจเป็นแนวต้านที่สำคัญของตลาดหุ้นไทย
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปียังคงเป็นด้านการลงทุนภาครัฐ โดยคาดว่าจะขยายตัว 6.7% จากหลายโครงการที่เริ่มประมูลไปแล้ว แม้จะน้อยกว่าปี 2559 จากฐานที่สูง เนื่องจากการลงทุนภาครัฐได้ขยายตัวสูงมา 2 ปีต่อเนื่อง และตัวเลขการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวจากปี 2559 จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น และการค้าโลกเริ่มมีภาพเชิงบวกขึ้น
ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณการซื้อขายลดลงเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะขาดปัจจัยบวกใหม่ ทำให้ตลาดซื้อขาย Sideways แม้จะเริ่มมี Fund flow เข้ามา แต่กลับเป็น Country Allocation มากกว่า โดยปัจจัยบวกที่ช่วยให้ SET ปรับขึ้นต่อ ได้แก่ ผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/60 ที่จะประกาศในช่วงปลายเดือนนี้ มาตรการทางการคลังและเม็ดเงินลงทุนของรัฐบาลที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกมาตรการลดหย่อนภาษีเพิ่มเพื่อดึงการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระมัดระวังเพิ่มเติม คือ ความล่าช้าในการเบิกจ่ายเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การปรับตัวขึ้นของรายได้ภาคเกษตรกรที่ไม่ Broad based นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจทำให้ภาคส่งออกและ FDI ของไทยได้รับผลกระทบไปด้วย และความต่อเนื่องของ Earnings growth ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์และพาณิชย์ เป็นต้น