WHAUP ปิดเทรดวันแรกที่ 26.00 บาท ต่ำกว่าราคาขาย IPO 0.95%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 10, 2017 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น WHAUP ปิดเทรดวันแรกที่ 26.00 บาท ลดลง 0.25 บาท (-0.95%) จากราคาขาย IPO 26.25 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 2,273.02 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 28 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 28.25 บาท และราคาลงต่ำสุด 26.00 บาท

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) มีจุดเด่นจากผลประกอบการ defensive มีการให้บริการธุรกิจน้ำในนิคมฯ อย่างครบวงจร โอกาสเติบโตในอนาคตจะมาจากการขยายการดำเนินธุรกิจน้ำไปยังนิคมฯ อื่น รวมถึงขยายไปพร้อมกับกลุ่มเหมราช การเติบโตในช่วง 3 ปีข้างหน้ามาจากการทยอยเปิดดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 โครงการ

ส่วนระยะยาวธุรกิจไฟฟ้ามีโอกาสขยายการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในนิคมฯ โดยประเมินกรอบการซื้อขาย 25.20-28.80 บาท อ้างอิงกรอบ PE ช่วง 14-16 เท่า บนสมมติฐานรายได้ธุรกิจน้ำเพิ่มขึ้น 5% และอัตรากำไรขั้นต้น 25%

การเติบโตในช่วงปี 60-62 การเติบโตของผลประกอบการมาจากธุรกิจสาธารณูปโภคที่จะเติบโตตามปริมาณการใช้น้ำ อ้างอิงจากประมาณการของกรมทรัพยากรน้ำการใช้น้ำอุตสาหกรรมจะเติบโตด้วย CAGR (57-70) ในอัตรา 4.6% และนโยบายปรับราคาขายน้ำในรูปแบบ cost plus ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้ามาจากการทยอยเปิดดำเนินงานของโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ในปี 60 จะมี 4 โครงการทยอยเปิดดำเนินงานส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้น 129 MW เป็น 478 MW ขณะที่ในปี 61 และ 62 จะมีโครงการเปิดดำเนินงานปีละ 1 โครงการทำให้กำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มเป็น 510 และ 540 MW ตามลำดับ

ขณะที่ นพ.สมยศ อนันตประยูร ประธานกรรมการ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ในฐานะประธานกรรมการ WHAUP เปิดเผยว่า การเข้าจดทะเบียนของ WHAUP ในวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทฯ และมองว่าธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคต จากการขยายตัวของการลงทุนในอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องไปกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ จากแผนการขยายธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานแบบครบวงจรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA กล่าวในฐานะบริษัทแม่ว่า WHAUP เป็น 1 ใน 4 สายธุรกิจของ WHA GROUP ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต จากความต้องการใช้น้ำ และไฟฟ้า เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และนอกนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น

ปัจจุบัน WHAUP มีฐานการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเมื่อมีการลงทุนเกิดขึ้นในอนาคตจะส่งผลดีต่อภาพรวมของรายได้ให้มีการเติบโตมากขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯของ WHAUP ในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคนั้น จะเพิ่มความน่าสนใจให้กับกลุ่มนักลงทุน ในระยะยาวได้

"ธุรกิจสาธารณูปโภค และพลังงาน เป็นธุรกิจอันดับต้นๆ ที่ WHA GROUP เล็งเห็นว่ามีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อุตสาหกรรม เพราะน้ำและไฟฟ้า ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น การขยายตัวของความต้องการใช้สาธารณูปโภคและไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในนิคมฯจะเป็นตัวบ่งชี้อัตราการเติบโตของ WHAUP ในอนาคตได้เป็นอย่างดี"นางสาวจรีพร กล่าว

สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทฯจะนำไปใช้ลงทุนในโครงการขยายธุรกิจสาธารณูปโภค และธุรกิจพลังงาน เพื่อเสริมศักยภาพในอนาคต และส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปใช้เพื่อการชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ในปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 เท่าลดลง

ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้า SPP ที่บริษัทถือหุ้นอยู่นั้นอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 6 โครงการ รวม 190 เมกะวัตต์ (ตามสัดส่วนการถือหุ้น) โดยจะใช้งบลงทุนอีก 1,858 ล้านบาท ซึ่งในปี 60 จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ 4 โครงการ รวม 130 เมกะวัตต์ และอีก 2 โครงการจะทยอยเปิดในปี 61-62 และจะรับรู้รายได้ครบ 540 เมกะวัตต์ในปี 62 ซึ่งเพิ่มขึ้น 54% จากสิ้นปี 59 ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 350 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อพลังงาน (Waste to Energy) โดยลงทุนใน บริษัท ชลบุรี คลีนเอ็นเนอร์ยี จำกัด (CCE) ร่วมกับบริษัทในเครือ บมจ.โกลว์ พลังงาน และ บริษัท SUEZ ซึ่งได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมขนาด 8.63 เมกะวัตต์ มีปริมาณพลังงานไฟฟ้าตามสัญญา 6.90 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี จังหวัดชลบุรีแล้ว และอยู่ในระหว่างจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือน ต.ค.60 ส่วนขั้นตอนการก่อสร้างจะใช้เวลา 24-26 เดือน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือน ธ.ค.62 โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท

สำหรับด้านพลังงานทดแทนอื่น บริษัทฯ ยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนพื้นที่อาคารของกลุ่มฯ ที่อยู่ในระหว่างเตรียมการมากกว่า 2 ล้านตารางเมตร ส่วนธุรกิจน้ำ ปัจจุบันมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และการบริหารจัดการน้ำเสีย 95 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และคาดว่าความต้องการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 6 โครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์

"จากแผนธุรกิจดังกล่าว บริษัทมั่นใจว่าจะมีการเติบโตของรายได้จากธุรกิจน้ำและส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจพลังงานอย่างเด่นชัด เมื่อเทียบกับปี 59 ที่มีรายได้จากธุรกิจน้ำประมาณ 1,600 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลรับจากธุรกิจไฟฟ้าประมาณ 985 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมการขยายตัวของฐานลูกค้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลพวงจากนโยบาย EEC ของภาครัฐที่บริษัทกำลังประเมินตัวเลขอยู่"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ