หุ้น MM ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 5.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท (+9.52%) จากราคาขาย IPO ที่ 5.25 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 1,550.98 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 5.30 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 5.80 บาท และราคาลงต่ำสุด 5.20 บาท
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น IPO ของ บมจ.มัดแมน (MM) เปิดเผยว่า การเปิดซื้อขายวันแรกของหุ้น MM ถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน และต้องขอชื่นชมนักลงทุนที่มีความหนักแน่นที่ไม่ขายหุ้นออกมาในวันแรก โดย MM ถือว่ามีพื้นฐานของธุรกิจที่ดี มีแบรนด์อาหารที่เป็นระดับโลก และในปีนี้ก็จะมีการขยายกิจการไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัทฯได้เงินจากการระดมทุนไปชำระหนี้ทั้งหมดแล้ว จะส่งผลให้บริษัทฯมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง และเปลี่ยนสถานะเป็นถือเงินสด โดยหลังจากนี้การลงทุนขยายสาขาก็ใช้งบลงทุนไม่มาก ซึ่งที่ผ่านมาเงินลงทุนที่ใช้มากๆจะมาจากการใช้เงินในการซื้อแบรนด์อาหารใหม่ๆเท่านั้น
"หลังจากการระดมทุนแล้ว ทางบริษัทฯก็ได้เปลี่ยนสถานะตัวเองมาถือเงินสด และการลงทุนหลังจากนี้ก็จะไม่ใช่ขนาดใหญ่ ซึ่งก็จะส่งผลให้ภาพรวม EBITDA ปรับตัวดีขึ้น และจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องต่อจากนี้ ซึ่งมองว่าการลงทุนในหุ้นนั้น หากลงทุนระยะยาวจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า และในตัว MM ก็ถือว่าเป็นหุ้นที่สามารถลงทุนระยะยาวได้ เนื่องจากหลังจากนี้จะมีการเติบโตที่ดีและแข็งแกร่ง"นายมนตรี กล่าว
ด้านนายนาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MM เปิดเผยว่า รู้สึกพอใจกับราคาหุ้นเปิดเทรดวันแรกสามารถยืนเหนือราคาจองซื้อหุ้นที่ 5.25 บาท/หุ้น และยืนยันว่าบริษัทฯจะไม่ขายหุ้นออกมา เนื่องจากเชื่อว่าธุรกิจยังมีการเติบโตที่สูงมากในอนาคต
ทั้งนี้ บริษัทฯมั่นใจว่าปีนี้จะกลับมามีกำไร พร้อมตั้งเป้ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทฯจะไม่มีการตัดขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์จากการซื้อกิจการ เกรฮาวด์ เฟชั่น (Greyhound Fasion) เข้ามาอีก จากปีก่อนที่มีภาระดังกล่าว 154.9 ล้านบาท ประกอบกับบริษัทฯได้ปิดสาขาเกรฮาวด์ แฟชั่นที่ไม่ทำกำไรด้วย นอกจากนี้บริษัทฯเตรียมนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้หนี้ทั้งหมด 1,100 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายได้เพิ่มเติม
ในส่วนของรายได้ปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 15% จากปีก่อนที่ทำได้ 2,991.55 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตจากการขยายสาขาแบรนด์เกรฮาวด์ คาเฟ่ที่สามารถเติบโตได้ในทุกสภาพเศรษฐกิจ ในขณะที่แบรนด์อื่นๆ เช่น โอ บอง แปง (Au Bon Pain) จะใช้กลยุทธ์ในการเพิ่มราคาสินค้า และเพิ่มสินค้าใหม่ ในขณะที่ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จาก ดังกิ้นโดนัท 40% โอ บอง แปง 20% เกรฮาวด์คาเฟ่ 20% และบาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ 4% และอื่นๆ
สำหรับปีนี้บริษัทฯตั้งเป้าเปิดสาขาเกรฮาวด์ คาเฟ่ในประเทศไทยอยู่ที่ราว 4 สาขา ในหัวหิน พัทยา และกรุงเทพฯ จากปัจจุบันที่มีทั้งหมด 14 สาขา โดยตั้งเป้ามีสาขาทั้งหมด 20 -23 สาขาในปี 63 ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนสาขาละ 15 - 20 ล้านบาท นอกจากนี้มีแผนที่จะเปิดเกรฮาวด์ คาเฟ่ในประเทศอังกฤษในไตรมาส 4/60 นี้ ใช้งบลงทุน 80 - 100 ล้านบาท
นอกจากนี้มีแผนเปิดสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ปีนี้ 2 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยมีระยะสัญญา 5 ปี และผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องเปิดจำนวน 5 สาขาเป็นอย่างน้อยอยู่ระหว่างเจรจาขายแฟรนไชส์ร้านอาหารให้แก่พันธมิตรในประเทศ อินเดีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 61 และตั้งเป้าขายแฟรนไชส์เพิ่มเติมในเอเชียอีกปีละ 1-2 ประเทศ จากปัจจุบันที่มีทั้งหมด 14 สาขา และอยู่ระหว่างศึกษาการเปิดสาขาในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น ดูไบ และในทวีปยุโรป เยอรมนี สวีเดน ฝรั่งเศส แต่ยังไม่มีความชัดเจน