บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ประกาศจับมือพันธมิตรจีนและไต้หวัน สร้างโรงงานแบตเตอรี่ในไทย รองรับอุตสาหกรรมระบบสำรองไฟฟ้า หรือ Energy Storage (Lithium Ion Battery) หลังล่าสุดวันนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุน “โครงการสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม New S-Curve และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง" ตั้งเป้าดำเนินการให้เสร็จใน 2 ปี
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ EA กล่าวว่า ถือเป็นมิติใหม่ และเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทย ในการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เป็นผู้เสนอแนวคิดในการพัฒนาและรัฐบาลพร้อมเดินหน้าสนับสนุน ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งบริษัทมีความพร้อม และจะจับมือกับบริษัท Shenzen Growatt New Energy Technology Co., Ltd. ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ารายใหญ่ในจีน และ บริษัท Amita Technologies Inc. ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ในไต้หวัน เพื่อจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในไทย โดยใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ มั่นใจว่าอุตสาหกรรมระบบสำรองไฟฟ้า หรือ Energy Storage (Lithium Ion Battery) ที่บริษัทลงทุนนี้ จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าของประเทศ และรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนระบบสำรองไฟฟ้าอื่น ๆ พร้อมทั้งจะช่วยสร้างรายได้ และก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น
นายสมโภชน์ กล่าวว่า การผลิต Energy Storage ในระยะแรกจะมีกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ โดยใช้งบลงทุนราว 3,000 ล้านบาท บริษัทจะเริ่มก่อสร้างโรงงานภายในปีนี้ และจะเริ่มผลิตได้ในช่วงปลายปี 61 แต่อย่างไรก็ตามบริษัทอยู่ระหว่างรอแนวทางการสนับสนุน และส่งเสริมจากภาครัฐก่อนว่าจะมากน้อยเพียงได โดยโครงการดังกล่าวจะพัฒนาอยู่ในพื้นที่ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
ทั้งนี้ หากการพัฒนาโครงการในระยะแรกแล้วเสร็จ บริษัทก็จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะมีกำลังการผลิตสูงถึง 50,000 เมกะวัตต์ ในปี 64 ด้วยงบลงทุนราว 1 แสนล้านบาท
"เบื้องต้นนี้เราจะเริ่มทำเฟสแรกก่อน และค่อย ๆ ทำเฟสต่อไปจนถึงเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้เราเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์จัดเก็บพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเราจะแบ่งสัดส่วนเป็นการส่งออกไปทั่วโลก 70-80% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าอนาคตจะมีความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับการลงทุนดังกล่าวมีมูลค่าค่อนข้างสูง เราจึงได้เตรียมการเจรจาพันธมิตรอย่างน้อย 2 รายที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในครั้งนี้"นายสมโภชน์ กล่าว
นายเจน นำชัยศิริ ประธานส.อ.ท. เปิดเผยว่า สำหรับการลงทุนนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้จะเน้นไปในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมในประเทศ ทางด้านพลังงาน เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดการนำเข้า และสร้างการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ทั้งนี้จะเริ่มจากโครงการที่มีความพร้อม 3 ด้านคือ ด้านเทคโนโลยี ด้านเงินลงทุน และด้านบุคลากร
ทั้งนี้ ส.อ.ท.และกนอ. มีความเห็นพ้องกันที่จะเริ่มต้นโครงการที่มีความพร้อมมากที่สุดเป็นอันดับต้น เพื่อให้เกิดการลงทุนและการสร้างการผลิตในไทย เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญจะเป็นการสร้างรายได้ จากสินค้าที่ผลิตในประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน และลดการนำเข้าทำให้รายได้ประชาชาติสูงขึ้นตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะเร่งรัดโครงการให้เกิดขึ้นภายในปี 62
โดย Energy Storage เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้มากที่สุดบนพื้นฐานของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสามารถต่อยอดมาจากอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ที่ใช้สำหรับรถยนต์ หรือแบตเตอรี่ตะกั่วกรด (lead acid battery) ที่เป็นที่รู้จักและสามารถเข้าใจได้ทันที ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมูลค่าการผลิตและจำหน่าย จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ในปี 57 และเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย แต่มีมูลค่าการค้าที่มีนัยยะพอสมควร
ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า และระบบการกักเก็บพลังงานของประเทศ Energy Storage จึงได้รับความสนใจ และได้รับมาตรการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน และการสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งหากมีการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างเต็มระบบ คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ว่าจะมีมูลค่ามากขึ้นถึง 10 เท่า และมีขนาดตลาดประมาณ 5 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดตลาดแบตเตอรี่ในประเทศไทยที่มีประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในสัดส่วน ร้อยละ 3.6 ของจีดีพีประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมเป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยลดการนำเข้า และสร้างการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ
นายเจน กล่าวว่า อุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-Curve จำนวน 5 สาขาที่รัฐบาลให้การส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ หุ่นยนต์, รถยนต์ไฟฟ้า, ดิจิตอล, Biomaterial และ Biofuel
"ส.อ.ท.หวังว่าอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจะเป็นเรือธงของโครงการ EEC ที่จะเพิ่มศักยภาพในการใช้พลังานของประเทศ ซึ่งจะก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง" นายเจน กล่าว
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากแนวคิดในการขับเคลื่อนประเทศไทยตามโมเดลการพัฒนาประเทศไทย 4.0 โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายเศรษฐกิจและทิศทางการพัฒนาประเทศไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 แผน 20 ปี กำหนดวิสัยทัศน์มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตภาคอุตสาหกรรมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) มุ่งเน้นอุตสาหกรรมไปยัง First S-Curve อุตสาหกรรม New S-Curve และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
กนอ.จึงเห็นความสำคัญต่อการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับส.อ.ท. คัดเลือกโครงการเป้าหมายที่มีความสำเร็จสูง (Quick Win Project) ซึ่งเป็นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve และ First S-Curve เป็นโครงการนำร่องโดยเริ่มต้นจาก “อุตสาหกรรมสำรองไฟฟ้า" Energy Storage ซึ่งมีอุตสาหกรรมหลักในตลาดรองรับ คือ ระบบสำรองไฟฟ้า Energy Storage สำหรับระบบกักเก็บไฟฟ้าของประเทศ Generation Unit และ Distribution รวมถึงระบบกับเก็บพลังงานของพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อความเสถียรของระบบไฟฟ้าของประเทศ และใช้ในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง (Cut Peak) ระบบสำรองไฟฟ้า Energy Storage ใช้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าประเภท Hybrid Electric Vehicle (HEV), Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) Battery Electric Vehicle (BEV) และอื่น ๆ และระบบสำรองไฟฟ้า Energy Storage สำหรับอุตสาหกรรมประเภทอุปกรณ์สำหรับ ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สำหรับโทรศัพท์มือถือ และอื่น ๆ
“การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นอันสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมไทย 4.0 และพัฒนาประเทศไทยสู่ประเทศไทย 4.0 ต่อไป"นายวีรพงศ์ กล่าว
นายวีรพงศ์ กล่าวว่า การจัดตั้งนิคมฯในรูปแบบคลัสเตอร์ช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดค่าใช้จ่ายเรื่องโลจิสติกส์ ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่ไม่ทำให้เกิดการลงทุนที่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์เหมือนในอดีต เบื้องต้นคาดว่าจะใช้พื้นที่ราว 1-2 พันไร่เพื่อดำเนินโครงการ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องทำเลที่ตั้งว่าจะเป็นพื้นที่ของกนอ.หรือเอกชน ซึ่งคงต้องอยู่ในพื้นที่ตั้งของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องด้วย
ด้านนายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ของส.อ.ท. กล่าวว่า เนื่องจากรัฐมีนโยบายที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 สิ่งหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาให้ไปสู่เป้าหมายก็คือ การพัฒนาด้านพลังงาน ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมระบบสำรองไฟฟ้า ที่จะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าชีวภาพมากสุดในภูมิภาคอาเซียน แต่ยังขาดเทคโนโลยีในการกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในเวลาที่เหมาะสมและจำเป็น
2.อุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันดีเซลชีวภาพจากปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นการพึ่งพาตนเองและทดแทนการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมจากต่างประเทศ ทั้งนี้ หากต้องการใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลที่เป็นปิโตรเลียมจะใช้พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยสามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซลได้ปีละ 711,750 ล้านบาท หรือปริมาณการใช้วันละ 60 ล้านลิตร ซึ่งจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5
นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช รองเลขาธิการ ส.อ.ท.ในฐานะประธานคลัสเตอร์พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนรายใหม่ให้ความสนใจติดต่อเข้ามาลงทุนราว 8 ราย จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 30 ราย เนื่องจากเห็นว่าเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูง ส่วนนักลงทุนรายเดิมยังมีรายใดที่แสดงความสนใจลงทุนเพิ่มเติม แต่ยังมีความกังวลว่านักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น แม้รัฐบาลจะประกาศว่าโครงการ EEC มีกฎหมายรองรับไว้แล้วก็ตาม
"นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น เพราะกลัวว่าเปลี่ยนรัฐบาลแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ถึงแม้จะมียุทธศาสตร์ชาติแล้ว แต่ในรายละเอียดไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน อย่างโครงการนี้ถ้าเขาไม่มั่นใจอาจไปลงทุนที่อื่นที่ให้สิทธิประโยชน์มากกว่า" นายสุวิทย์ กล่าว