นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากสภานิบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เห็นชอบวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ. กสทช. ซึ่งใน พ.ร.บ. กสทช ฉบับดังกล่าว จะมีการแก้ไขเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ ส่งผลให้หลังจากนี้ กสทช. มีแผนเตรียมจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 850 เมกะเฮิรตซ์ คาดจะแล้วเสร็จในเดือนธ.ค. 60 และจะสามารถเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 850 เมกะเฮิรตซ์ ได้ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.61 ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวจะถือเป็นครั้งแรกที่มีการประมูลล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) ได้ทำสัญญาไว้กับ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทค ที่มีกำหนดสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนก.ย. 61 เพื่อให้ทางผู้ประกอบการและผู้ใช้งานที่มีแนวโน้มจะตกค้าภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานได้มีโอกาสเตรียมพร้อมล่วงหน้า
นายฐากร กล่าวว่า ในส่วนราคาตั้งต้นการประมูล ทาง กสทช. จะยึดเอาผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีขึ้นเมื่อช่วงปลาย 58 เป็นหลัก ซึ่ง การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ในรอบใหม่ที่จะมีขึ้น จะมีการ แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต จำนวนใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีราคาตั้งต้นการประมูลราว 40,000 ล้านบาทต่อใบอนุญาต ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ 1 ใบอนุญาต จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ จะมีราคาตั้งต้นการประมูลอยู่ที่ราว 75,000 ล้านบาท ทั้งนี้ด้วยกฎหมายฉบับใหม่ เงินรายได้ที่เกิดขึ้นจากการประมูลร้อยละ 15 จะนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กองทุนดีอี) ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 85 เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการจัดการประมูลเสร็จสิ้นจะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินดังเดิม
“การที่ตอนนี้ประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ไปอย่างรวดเร็วมากนัก ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะไม่มีเงินเป็นตัวช่วย แต่เชื่อได้ว่าการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ที่น่าจะได้เงินมากถึงราว 200,000 ล้านบาทจะเป็นงบประมาณอย่างดีในการให้รัฐบาลนำไปใช้ในโครงการต่างๆที่เป็นประโยชน์เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ" นายฐากร กล่าว
นายฐากร กล่าวด้วยว่า สำหรับการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ ส่วนตัวมองว่าน่าจะมีผู้ประกอบการเข้าประมูลทั้งสิ้น 4 ราย ประกอบด้วยผู้ประกอบการ 3 รายเดิมที่เป็นรายใหญ่ในตลาดขณะนี้ และ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ที่อาจมาในชื่อบริษัทใหม่ เนื่องจากชื่อบริษัทเดิม คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ ได้ถูก กสทช. ขึ้นแบล็คลิส เนื่องจากก่อนหน้านี้ แจส ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ แต่ไม่สามารถเดินทางมาชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกพร้อมวางหนังสือรับรองจากสถาบันการเงิน(แบงก์การันตี) ได้ทันตามกำหนด