สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร บมจ.ไทรทัน โฮลดิ้ง (TRITN) เดิมชื่อ บมจ.ไลฟ์ อินคอร์ปอเรชั่น (LIVE) กับพวก รวม 9 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีร่วมกันทุจริต เบียดบังเอาทรัพย์สินของบริษัท ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ และยินยอมให้มีการทำบัญชีไม่ถูกต้อง ได้แก่ (1) นางสาวณีรนุช ณ ระนอง อดีตรองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TRITN (2) นายอภินันท์ ปัญญากร อดีตกรรมการบริหาร TRITN (3) นายสุทธิโรจน์ เอกธราพิพัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน TRITN (4) นางสาววรานิษฐ์ พงษ์วีรนนท์ (5) นายธรากร จันทร์เกิด (6) นายอัครพล โลหิตไทย (7) บริษัท วี บิลบอร์ด จำกัด (VBB) (8) นายชำนิ จันทรศุภวงษ์ และ (9) นายอิศเรส เฉลิมรัฐ
สืบเนื่องจากงบการเงินปี 2556 ของ TRITN ที่ผู้สอบบัญชีได้แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขเกี่ยวกับธุรกรรมที่ TRITN ทำกับ VBB ซึ่งเป็นบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท ก.ล.ต. จึงตรวจสอบเพิ่มเติมแล้วพบว่า บุคคลอันดับที่ (1) – (3) ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหาร TRITN ร่วมกับบุคคลอันดับที่ (4) - (5) ได้จัดตั้งและใช้ VBB เป็นช่องทางในการกระทำทุจริตในหลายกรณี ดังต่อไปนี้
กรณีที่ 1 ยักยอกเงินของบริษัทผ่านธุรกรรมการให้ VBB กู้ยืมเงิน โดยบุคคลอันดับ (1) – (3) ด้วยความช่วยเหลือของบุคคลอันดับ (5) – (7) ได้ร่วมกันยักยอกเงินของ TRITN โดยอำพรางผ่านธุรกรรมการให้ VBB กู้ยืมเงินจำนวน 60 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 เพื่อนำไปใช้สร้างป้ายโฆษณา แต่เนื่องจากรายการดังกล่าวมีขนาดเกินกว่าอำนาจอนุมัติของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งมีอำนาจอนุมัติไม่เกิน 50 ล้านบาท VBB จึงนำเงินมาคืน 20 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนั้น VBB ไม่ได้นำไปใช้สร้างป้ายโฆษณา แต่ตรวจพบว่าถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหุ้นและแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น LIVE ของบุคคลอันดับ (8) และ (9)
กรณีที่ 2 แสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบจากการเช่าป้ายโฆษณาและการซื้อป้ายคืน โดยบุคคลอันดับที่ (1) – (3) ด้วยความช่วยเหลือของบุคคลอันดับ (4) – (7) ได้ร่วมกันดำเนินการให้บริษัทย่อยของ TRITN คือ บริษัท สแพลช มีเดีย จำกัด (มหาชน)[1] (SPM) ทำสัญญาเช่าป้ายโฆษณา 3 ป้ายกับ VBB ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2556 ระยะเวลาเช่า 5 ปี แต่ SPM จ่ายเงินค่าเช่าล่วงหน้าให้ VBB ไปมากกว่าปกติถึง 17.8 ล้านบาท คิดเป็น 87.9% ของมูลค่าของค่าเช่ารวมทั้ง 5 ปี โดยตรวจพบว่า SPM จ่ายเงินค่าเช่าให้แก่ VBB เพื่อเป็นค่าก่อสร้างป้ายโฆษณา แต่ VBB กลับได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ป้ายแต่ผู้เดียว และ 1 ปีต่อมา SPM ยกเลิกสัญญาเช่าป้ายโฆษณากับ VBB และ VBB จ่ายคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าส่วนที่ยังไม่ได้ใช้งานให้แก่ SPM จากนั้นอดีตผู้บริหาร TRITN และพวกดำเนินการให้บริษัทย่อยคือ บริษัท สแพลช เอสเตท จำกัด[2] ซื้อป้ายโฆษณาทั้งหมดจาก VBB ในราคาสูงกว่าต้นทุนที่แท้จริง จากการขายป้ายโฆษณาดังกล่าวทำให้ VBB ได้ประโยชน์จำนวน 5.8 ล้านบาท และนำไปใช้ชำระคืนหนี้ที่กู้ยืมมาจาก TRITN ในกรณีที่ 1
กรณีที่ 3 แสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบจากการซื้อที่ดิน โดยบุคคลอันดับ (1) – (3) ด้วยความช่วยเหลือของบุคคลอันดับ (6) และ (7) ได้ร่วมกันดำเนินการให้บริษัทย่อยคือ บริษัท อาร์ไจล์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด[3] ทำสัญญาซื้อที่ดินจากบุคคลภายนอกเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557 จากการตรวจสอบพบว่า เงินค่าที่ดินบางส่วนจำนวน 13.8 ล้านบาท ถูกฝากเข้าบัญชีเงินฝากของ VBB ซึ่งถูกนำไปใช้ชำระคืนหนี้ที่กู้ยืมมาจาก TRITN ในกรณีที่ 1
กรณีที่ 4 ยักยอกเงินของบริษัทผ่านธุรกรรมการให้ VBB หาทำเลที่ตั้งป้ายโฆษณา โดยบุคคลอันดับ (1) – (3) ด้วยความช่วยเหลือของบุคคลอันดับ (5) – (7) ได้ร่วมกันยักยอกเงินของ TRITN โดยให้ SPM ซึ่งเป็นบริษัทย่อย แต่งตั้ง VBB เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 เพื่อเป็นตัวแทนในการหาทำเลที่ตั้งเพื่อก่อสร้างป้ายโฆษณา และจ่ายเงินค่าตอบแทนล่วงหน้าจำนวน 2 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ตรวจสอบพบว่า VBB ไม่ได้ดำเนินการตามสัญญา แต่นำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น และไม่นำเงินค่าตอบแทนที่รับไว้ล่วงหน้ามาคืนให้แก่ SPM ตามเงื่อนไขในสัญญา เป็นผลให้ SPM เสียหายและตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งจำนวน
การกระทำของ (1) นางสาวณีรนุช (2) นายอภินันท์ และ (3) นายสุทธิโรจน์ ดังกล่าวข้างต้น เข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 โดยทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์สินของบริษัท แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และยินยอมให้มีการทำบัญชีไม่ถูกต้อง ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 281/2 วรรคสอง มาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 และมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยมี (4) นางสาววรานิษฐ์ (5) นายธรากร (6) นายอัครพล (7) VBB (8) นายชำนิ และ (9) นายอิศเรส ให้การช่วยเหลือสนับสนุน[4] ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 9 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ การถูกกล่าวโทษมีผลให้บุคคลข้างต้น เข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการหรือผู้บริหารและไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ