นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมแผนการจัดหาเงินรองรับการลงทุนประมาณ 300,000 ล้านบาทภายใน 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 เพื่อรักษาและเสริมสร้างฐานธุรกิจของบริษัทฯ ให้แข็งแกร่งและมั่นคงต่อเนื่อง โดยมีแผนจะผลักดันกำลังผลิตให้เพิ่มขึ้นอีก 7,000 เมกะวัตต์ จากปีนี้ที่จะต้องเร่งสร้างกำลังผลิตเทียบเท่าให้เติบโตถึง 7,500 เมกะวัตต์
บริษัทได้ขยายเป้าหมายจากเดิมที่ต้องสร้างกำลังผลิตให้เติบโตอีกประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 เป็น 7,000 เมกะวัตต์ในปี 2570 เพื่อรักษาความมั่นคงของบริษัทฯในระยะยาว สำหรับแผนงานหลักที่จะต้องดำเนินการให้ก้าวหน้าต่อเนื่องในปีนี้มี 3 เรื่องด้วยกัน คือ การติดตามโครงการที่กำลังพัฒนาและก่อสร้างจำนวน 6 โครงการ รวม 537 เมกะวัตต์ให้แล้วเสร็จสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ตามกำหนดเวลา
และ การปรับปรุงประสิทธิภาพความเชื่อถือได้และความสามารถในการการพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่เป็นสินทรัพย์หลัก เพื่อให้สร้างรายได้ได้ตามประมาณการ ส่วนการลงทุนจะเร่งหาโครงการในต่างประเทศ พร้อมทั้งปรับวิธีประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทนโครงการให้สอดคล้องกับปัจจัยและสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศให้มากขึ้น
"ทิศทางการดำเนินงานในปีนี้จะยังคงยึดเป้าหมายเดิม แต่ก็ได้กำหนดเป้าหมายท้าทายเพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีก 7,000 เมกะวัตต์ในปี 2570 ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป แนวทางการลงทุนโครงการขนาดใหญ่จะใช้รูปแบบการซื้อและควบรวมกิจการให้มากขึ้น เพื่อลดระยะเวลาการพัฒนาโครงการและสามารถรับรู้เมกะวัตต์และรายได้ในทันที" นายกิจจา กล่าว
นายกิจจา กล่าวว่า การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในระยะ 10 ปีจากนี้จะเน้นการซื้อกิจการและร่วมทุน (M&A) ที่ในปีนี้เตรียมงบลงทุนเพื่อรองรับการทำ M&A ราว 4.4 พันล้านบาท โดยจะเน้นโครงการที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว (COD) เพื่อให้ได้รายได้และกำไรกลับมาโดยเร็ว
"การลงทุนจะเน้นไปที่ต่างประเทศ ในลักษณะ M&A เพื่อให้รับรู้จำนวนเมกะวัตต์และกำไรที่เพิ่มขึ้นโดยเร็ว เพราะถ้าเป็น greenfield ใช้เวลานาน ซึ่งในส่วน greenfield จะเน้นโครงการประเภทพลังงานทดแทนที่ใช้เวลาพัฒนาโครงการสั้นเพียง 1-3 ปี"นายกิจจา กล่าว
นายกิจจา กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมแผนการจัดหาเงินลงทุนเพื่อรองรับการลงทุนอีกราว 3 แสนล้านบาทภายใน 10 ปีข้างหน้าเพื่อรักษาและเสริมสร้างฐานธุรกิจให้แข็งแกร่งและมั่นคงต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นว่าจะจัดหาแหล่งเงินเพียงพอรองรับการลงทุนได้ เนื่องจากปัจจุบันมีกำไรสะสมราว 4 หมื่นล้านบาท และในแต่ละปีก็จะมีกำไรกลับเข้ามาบริษัทต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีศักยภาพในการกู้เพื่อลงทุนด้วย
สำหรับเงินลงทุนในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะใช้ลงทุนในโครงการที่มีอยู่ในมือและอยู่ระหว่างการพัฒนาราว 5.6 พันล้านบาท และอีก 4.4 พันล้านบาทจะใช้รองรับการทำ M&A ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาหลายโครงการทั้งโครงการโรงไฟฟ้า ในต่างประเทศ ,โครงการเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทยังจะผลักดันเป้าหมายการลงทุนให้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทั้งธุรกิจรถไฟฟ้า เชื้อเพลิง พลังงานทดแทน สาธารณูปโภค ตลอดจนการผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) เป็นต้น
ทั้งนี้ หากบริษัทดำเนินการได้ตามเป้าหมายก็จะทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเทียบเท่าในปี 70 ที่ราว 14,500 เมกะวัตต์ หากโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยูได้รับการต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่หากโรงไฟฟ้าเดิมไม่ได้รับการต่ออายุก็จะทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเทียบเท่าเหลือราว 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 70
ขณะนี้บริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ใกล้หมดอายุ ได้แก่ โรงไฟฟ้าไตรเอ็นเนอร์จี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์ หมดอายุในปี 63 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงพลังงานเพื่อขอต่ออายุออกไปอีก 5-10 ปี ,โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี หมดอายุปี 68 ,โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี หมดอายุปี 70 และโรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ หมดอายุในปี 76
ปัจจุบัน RATCH มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนในมือ 6,980 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่ COD แล้วราว 6,500 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มเป็น 7,500 เมกะวัตต์ในปีนี้
นายกิจจา กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายจะมีกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนในสัดส่วน 20% ภายในปี 66 จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 10% โดยบริษัทมีแผนจะเข้าร่วมเสนอดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนภายในประเทศที่จะเปิดรับซื้อในปีนี้ทั้งโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะ 2,โครงการ SPP Hybrid Firm,VSPP Semi-Firm เป็นต้น
สำหรับแผนงานหลักของบริษัทในปีนี้จะต้องติดตามโครงการที่กำลังพัฒนาและก่อสร้างจำนวน 6 โครงการ รวม 537 เมกะวัตต์ให้แล้วเสร็จสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ตามกำหนด ,ปรับปรุงประสิทธิภาพความน่าเชื่อถือได้และความสามารถในการพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่เป็นสินทรัพย์หลัก โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าหงสาในลาว ที่ปีนี้ตั้งเป้าหมายจะเดินเครื่องได้มากกว่า 80% จากปีที่แล้วที่เดินเครื่องได้เพียง 60% และการลงทุนก็จะเร่งหาโครงการในต่างประเทศด้วย
ขณะเดียวกันบริษัทยังอยู่ระหว่างการหารือกับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เพื่อเข้าประมูลงานรถไฟฟ้าอีกหลายเส้นทางทั้งสีเทา สีแดง เป็นต้น จากปัจจุบันได้ร่วมกับกลุ่ม BTS และพันธมิตรชนะประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูไปแล้ว ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาหลังจากที่ร่างสัญญาผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน พ.ค. โดยโครงการดังกล่าวที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 10% คิดเป็นกำลังไฟฟ้าราว 180 เมกะวัตต์