MCOT มั่นในปีนี้พลิกมีกำไรหลังปรับโครงสร้าง-ลดค่าใช้จ่ายหวังกลับมาจ่ายปันผลในปี 61

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 21, 2017 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท (MCOT) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทมีโอกาสที่จะพลิกกลับมามีกำไรจากปีก่อนที่ขาดทุน 758 ล้านบาท หลังจากบริษัทได้ปรับปรุงโครงสร้างและรูปแบบของธุรกิจหลักให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ประกอบกับ การลดต้นทุนและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการบริหารจัดการภายในที่จะลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน

ทั้งนี้ หากผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 60 สามารถพลิกกลับมามีกำไรตามที่คาดหวังไว้ ก็มีโอกาสที่บริษัทจะพิจารณาจ่ายเงินปันผลในปี 61

"ปีนี้แนวทางการดำเนินงานจะลดการขาดทุนภายในไตรมาสที่เหลือ โดยการบริหารต้นทุนที่เหมาะสม ประกอบกับการปรับผังรายการใหม่ และรุกแพลทฟอร์มดิจิตอลมากขึ้นเพื่อดึงรายได้โฆษณาเข้ามาส่งผลให้รายได้ปีนี้มากกว่าปีก่อน และมีโอกาสที่จะไม่ขาดทุน อีกทั้ง จะต้องปรับโครงสร้างภายในที่มีการทำงานซ้ำซ้อนกัน และเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน"นายเขมทัตต์ กล่าว

สำหรับรายได้ในปี 60 บริษัทคาดว่าจะสูงกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 2.89 พันล้านบาท โดยรายได้หลักยังมาจากช่อง MCOT HD และ คลื่นวิทยุ 97.5 MHz โดยช่อง MCOT HD ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยจะเริ่มเห็นภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งได้ปรับผังรายการที่เน้นรายการข่าวและสารคดีเพิ่มมากขึ้นมาอยู่ที่ 40% รายการวาไรตี้ที่มีสาระ สัดส่วน 30% ละคร 15% และกีฬา 15%

ส่วนช่อง MCOT FAMILY รูปแบบรายการจะไม่เน้นรายการเด็กเหมือนที่ผ่านมา แต่จะปรับเป็นการนำเสนอรายการในรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับประชารัฐ เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ เพื่อเป็นช่องทางการเสนอผลิตภัณฑ์ และข้อมูลข่าวสารของกลุ่มดังกล่าว ประกอบกับ เพื่อเป็นการสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดงบโฆษณาจากกองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มอี และธุรกิจสตาร์ทอัพ เข้ามาได้ จากปัจจุบันมีงบโฆษณาจากกลุ่มเป้าหมายของช่อง MCOT FAMILY เข้ามาแล้ว อย่างเช่น กองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มอีแบงก์ และ ธนาคารออมสิน

นอกจากนี้จะใช้ช่อง MCOT FAMILY เป็นช่องทางของธุรกิจขายสินค้าผ่านทางโทรทัศน์เพื่อเป็นช่องทางให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวขายสินค้าให้กับผู้สนใจ และบริษัทยังได้ส่วนแบ่งจากการขายสินค้าด้วย

ขณะที่ช่องทางสื่อผ่านระบบดิจิตอลแพลทฟอร์มของบริษัทจะเน้นการ LIVE ผ่านโซเชียลมีเดีย facebook และ Youtube มากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อทำให้กลุ่มผู้ชมเข้าถึงได้อย่างสะดวกมากขึ้น และเป็นไปตามกระแสที่ผู้ชมหันมานิยมดูรายการผ่านช่องทางดิจิตอลมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินโฆษณาให้เข้ามามากขึ้น

ด้านธุรกิจวิทยุของบริษัทนั้นถือเป็นหนึ่งธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างมีเสถียรภาพ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมให้บริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคง เนื่องจากการปิดคลื่น seed ไป ทำให้ฐานลูกค้าหลักและรายได้หายไป และส่งผลให้บริษัทต้องมาบริหารคลื่น 97.5 Mhz ด้วยตัวเอง โดยของคลื่น 97.5 MHz รูปแบบใหม่จะเป็นการเน้นการเปิดเพลงควบคู่ไปกับสาระ ซึ่งกลุ่มผู้ฟังจะขยายฐานมากขึ้นไปยังกลุ่มวัยทำงาน จากเดิมที่คลื่น seed เน้นแต่กลุ่มวัยรุ่น

นายเขมทัต กล่าวถึงการบริหารสินทรัพย์อื่น ๆ ของบริษัทว่า กรณีคลื่น 2600 Mhz ที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องการเรียกคือคลื่นกลับไปเพื่อเปิดประมูลใหม่นั้น บริษัทยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ของบริษัทที่มีมูลค่าสูงและต้องการนำคลื่นดังกล่าวไปพัฒนารองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพื่อสร้างรายได้เข้ามา

ส่วนทรัพย์สินที่เป็นที่ดินของบริษัทที่มีอยู่ 3 ทำเล ได้แก่ ที่ดินศูนย์วัฒนธรรมฯ พื้นที่ 50 ไร่ ปัจจุบันได้เจรจาเปิดทางเข้าออกจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการเปิดทางเข้าออกอีกด้าน ซึ่งล่าช้ามานาน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ซึ่งแผนพัฒนาที่ดินดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษา และคาดว่าจะเป็นรูปแบบการร่วมทุนโดยจะออก TOR เชิญชวนผู้สนใจเข้ามาร่วมทุน แต่ไม่สามารถระบุระยะเวลาที่แน่ชัดในการพัฒนาโครงการได้ เนื่องจากบริษัทต้องรอความชัดเจนการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มก่อน เพราะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจพัฒนาที่ดินดังกล่าว

นายเขมทัต กล่าวว่า สำหรับที่ดินของบริษัทย่านบางไผ่ ซึ่งอยู่ในโซนสีเขียวและสามารถพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยได้ ล่าสุดบริษัทได้มีการเจรจากับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เพื่อร่วมกันพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัย คาดว่าจะได้ข้อสรุปปีนี้ และสัปดาห์หน้าบริษัทจะเข้าไปสำรวจที่ดินแปลงดังกล่าว

และที่ดินหนองเขมที่ปัจจุบันทางช่อง 3 เช่าใช้อยู่นั้นเหลือระยะเวลาการเช่าอีก 2 ปี โดยบริษัทมี 2 แนวทางที่จะดำเนินการ คือ การเจรจากับช่อง 3 เพื่อสอบถามความสนใจเช่าที่ดินดังกล่าวต่อหรือไม่ และแนวทางที่ 2 จะเป็นการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์เพื่อร่วมลงทุนโครงการ MCOT ACADAMY ย่านฝั่งธนเป็นแห่งแรก

ด้านความคืบหน้าการชำระค่าเช่าการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบทีวีดิจอตอล (MUX) จากผู้เช่าทั้ง 3 ช่อง ได้แก่ ช่องวอยซ์ทีวี, ช่องไทยรัฐทีวี และช่องสปริงส์นิวส์ ที่ไม่ได้จ่ายค่าเช่ามาเป็นระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากอ้างว่าบริษัทติดตั้งโครงข่ายล่าช้ากว่ากำหนด โดยปัจจุบันการเจรจาได้ข้อยุติแล้ว และทั้ง 3 ช่องเริ่มทยอยชำระค่าเช่าแบบผ่อนจ่ายรายเดือน มูลค่ารวมทั้งหมดมากกว่า 500 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ