บมจ.พริมา มารีน ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 625 ล้านหุ้น โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ไม่เกิน 500 ล้านหุ้น และผู้ถือหุ้นเดิม คือ Austin Asset Limited จะเสนอขายหุ้นออกมาจำนวน 125 ล้านหุ้น โดยมี บล.กสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
วัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อลงทุนในเรือลำใหม่และขยายกองเรือของธุรกิจเรือขนส่งฯ ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU และธุรกิจเรือ Offshore รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ บริษัทฯมีความประสงค์ที่จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
กล่มพริมา มารีน ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลวทางเรือ การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล และการบริหารจัดการเรือ (Ship Management) โดยธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ประกอบด้วย 4 ธุรกิจ 1) ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลว 2) ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (Floating Storage Unit) 3) ธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (Offshore Support Vessel) และ 4) ธุรกิจการบริหารจัดการเรือ (Ship Management)
โครงการในอนาคตที่สำคัญในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ได้แก่ กลุ่มบริษัทมีแผนต่อเรือใหม่เพื่อทดแทนเรือลำเดิมที่มีอายุใกล้ปลดระวาง เพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งทั้งจากการเพิ่มขนาดเรือและการเพิ่มปริมาณการขนส่งต่อเที่ยวเรือ เพื่อรองรับปริมาณการใช้น้ำมันในแต่ละภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ใปี 60-61 มีแผนการลงทุนต่อเรือขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลว ลำใหม่ ขนาดประมาณ 3,000-5,000 เดทเวทตัน จำนวนทั้งสิ้น 10 ลำ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 2,660 ล้านบาท และ ณ วันที่ 31 มี.ค.60 กลุ่มบริษัทฯ ได้ลงทุนไปแล้วประมาณ 530 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าจากแผนการลงทุนนี้ประมาณ 550 ล้านลิตรต่อปี กลุ่มพริมา มารีน คาดว่าจะใช้เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน 80% ของมูลค่าโครงการรวม และคาดว่าจะมีเรือขนส่งฯ ลำใหม่ให้บริการเพื่อทดแทนเรือลำเก่าในแต่ละปี ในปี 60 และปี 61 จำนวน 6 ลำ และ 4 ลำ ตามลำดับ
แผนการขยายกองเรือ ซึ่งประกอบด้วยเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และ ปิโตรเคมีเหลว (เรือขนส่ง) เรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (FSU) และเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (Offshore Support Vessel) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณการขนส่ง เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการขนส่งสินค้าไปยังเส้นทางการเดินเรือใหม่ทั้งเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะในประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจสูง อาทิ เมียนมา เป็นต้น
ในช่วงปี 60-62 บริษัทมีแผนลงทุนในเรือขนส่งขนาดบรรทุกประมาณ 3,000-10,000 เดทเวทตัน ประมาณ 11 ลำ ประกอบด้วย การต่อเรือใหม่ 6 ลำ และการซื้อเรือมือสอง 5 ลำ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจเรือขนส่งฯ ของเส้นทางเดินเรือในประเทศเป็นหลัก และแผนการลงทุนในเรือขนส่งขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเรือ ประมาณ 10 ลำ ประกอบด้วยเรือ MR 3 ลำ เรือ LR2 3 ลำ เรือ Aframax 3 ลำ และ เรือ VLCC 1 ลำ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจขนส่งฯ ที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของเรือ FSU เป็นหลัก
แผนขยายธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU โดยในปี 59 กลุ่มบริษัทได้เข้าลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท บงกช มารีน เซอร์วิส จำกัด (BONGKOT) ในสัดส่วน 70% ทั้งนี้ BONGKOT เข้าลงทุนในเรือ FSU ขนาด VLCC ในไตรมาสที่ 1-2 ปี 2560 มูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,050 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 31 มี.ค.60 กลุ่มบริษัทด้ลงทุนไปแล้วประมาณ 730 ล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มให้บริการในไตรมาส 2/60
ส่วนแผนขยายธุรกิจเรือขนส่ง Offshore มีแผนลงทุนในเรือ FSO ในปี 61 ขนาด Aframax ประมาณ 2 ลำ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 1,090 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจการปฏิบัติงานการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันดิบกลางทะเลของกลุ่มบริษัทขุดเจาะและสำรวจน้ำมันดิบในทะเลในน่านน้ำของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ
กลุ่มบริษัทมีแผนพิจารณาลงทุนในเรือ Offshore ระหว่างปี 61-62 อาทิ เช่น เรือสนับสนุนการใช้สมอและลากจูงโครงสร้างในทะเล (Anchor Handling Tugs) เรือขนส่งและที่พักอาศัยสำหรับพนักงานประจำแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม (Accommodation Work Barge) เพื่อรองรับการปฏิบัติงานการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันดิบกลางทะเลที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มบริษัทขุดเจาะและสำรวจน้ำมันดิบในทะเลในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจ คาดว่าจะใช้เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินประมาณ 80% ของมูลค่าโครงการรวม
ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 59 มีสินทรัพย์รวม 8,382.7 ล้านบาท หนี้สินรวม 5,723.1 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 2,656.6 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการให้บริการ 4,926.5 ล้านบาท สูงขึ้นจาก 3,892.4 ล้านบาทในปี 58 ประกอบด้วยรายได้จากเรือขนส่ง 34.2% รายได้จากเรือ FSU สัดส่วน 47.1% รายได้จากเรือ Offshore 12.2% และรายได้จากบริการเรือ 6.5% ส่วนกำไรสุทธิ 1,202.2 ล้านบาท สูงขึ้นจาก 831.2 ล้านบาทในปี 58 อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 38.26% จาก 36.40% อัตรากำไรสุทธิ 27.98% จาก 21.35%
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท และมีทุนชำระแล้ว 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นจำนวนหุ้นสามัญ 2,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก จำนวนไม่เกิน 500 ล้านหุ้นแล้ว บริษัทฯ จะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งสิ้นเป็นจำนวนไม่เกิน 2,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็นจำนวนหุ้นสามัญ 2,500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ คือ บริษัท นทลิน จำกัด ถือหุ้น 1,399,999,800 หุ้นคิดเป็น 70% หลังเสนอขาย IPO แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 56% รองลงมาเป็น Austin Asset Limited ถือหุ้น 600 ล้านหุ้น คิดเป็น 30% หลังเสนอขาย IPO จะถือหุ้น 475 ล้านหุ้น คิดเป็น 19%
บริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษี และเงินสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ