นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต (TBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 60 เติบโต 4-5% จากปี 59 ที่สินเชื่อของธนาคารติดลบ 3% ซึ่งการเติบโตของสินเชื่อที่พลิกกลับมาเป็นบวกในปีนี้จะทำให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างของธนาคารเพิ่มเป็น 7.18 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 59 ที่ 6.91 แสนล้านบาท
ธนาคารมองว่าสินเชื่อจะกลับมาเติบโตได้ในปีนี้ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ หลังธนาคารเห็นการฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงต้นปีตามอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งปีนี้ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เติบโต 27% โดยปัจจุบันสัดส่วนของประเภทสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่อยู่ที่ 70% และรถยนต์มือสอง 30% สัดส่วนดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา
ขณะที่สินเชื่อธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าเติบโต 3-4% จากปีที่ผ่านมาหดตัวลงเช่นเดียวกัน หลังลูกค้าหันไปไช้เครื่องมือในการระดมทุนในตลาดทุนแทนการขอสินเชื่อ เช่น การออกหุ้นกู้ เป็นต้น แต่ธนาคารก็ยังสามารถให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินแก่ลูกค้า ซึ่งสามารถสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารได้เป็นอย่างดี
นอกจกานั้น ในปีนี้การให้สินเชื่อแก่ลูกค้าขนาดใหญ่ธนาคารจะเน้นไปที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงการภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะเห็นการลงทุนในครึ่งปีหลัง และกลุ่มพลังงานทางเลือกที่เฉพาะทาง ซึ่งธนาคารประเมินว่ายังมีทิศทางที่สดใสในการลงทุน
นายสมเจตน์ กล่าวว่า แนวโน้มไตรมาส 2/60 ธนาคารยังคงพัฒนาการทำงานต่างๆให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้ผลการดำเนินงานเติบโตสูงขึ้นจากไตรมาส 1/60 แม้ว่าสินเชื่อรวมที่ผ่านมายังคงหดตัว 1% แต่เห็นสัญญาณบวกกลับเข้ามาจากสินเชื่อบางประเภท เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อรายย่อยกลับมาเติบโตได้ 1.5% อย่างไรก็ตาม สินเชื่อลูกค้ารายใหญ่หดตัวยังคงกดดันการเติบโตอยู่ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรม โดยธนาคารคาดว่าจะเห็นการลงทุนของลูกค้าขนาดใหญ่ตั้งแต่ไตรมาส 2/60 เป็นต้นไป
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ธนาคารจะพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 2.2-2.3% ในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงจากปี 59 ส่งผลให้การตั้งสำรองของธนาคารยังอยู่ในระดับปกติ โดยปัจจุบันอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverate ratio) อยู่สูงถึง 150% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับระบบที่เฉลี่ยอยู่ที่ 130-140%
นายสมเจตน์ กล่าวอีกว่า การตั้งสำรองปกติของธนาคารเฉลี่ยแล้วจะตั้งสำรองราว 1 พันล้านบาทต่อไตรมาส ซึ่งปีนี้ธนาคารตั้งเป้าอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองของธนาคาร (Credit Cost) อยู่ที่ 0.7% ซึ่งในไตรมาส 1/60 ที่ผ่านมาธนาคารมี Credit Cost อยู่ที่ 0.5% เท่านั้น โดยแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารจัดการ NPL ซึ่งธนาคารมี 2 แนวทางในการบริหารจัดการ คือ การปรับโครงสร้างหนี้ และการตัดจำหน่ายหนี้ โดยที่ผ่านมาธนาคารได้มีการตัดจำหน่ายหนี้ออกไปเป็นระยะๆ
"เราก็พอใจที่ผลงานของธนาคารออกมาดีจนทำให้มีกำไรเติบโต 9 ไตรมาสติดต่อกัน โดยหากรัฐยังลงทุนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนกำลังซื้อของประชาชนก็จะกลับมาดีขึ้นตามเม็ดเงินที่ภาครัฐอัดฉีดเข้าสู่ระบบ และส่งผลให้ทุกๆอย่างมีแนวโน้มการฟื้นตัวกลับมา สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศก็ต้องติดตามเรื่องเงินทุนไหลเข้า เพราะสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินและตลาดทุน แต่ประเทศไทยก็ยังสามารถรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี"นายสมเจตน์ กล่าว