ThaiBMA เผย Q1/60 เอกชนออกหุ้นกู้ระยะยาวเพิ่ม 41% Fund Flow ยังไหลเข้าสุทธิ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 25, 2017 10:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยในไตรมาสแรกปี 60 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าคงค้างรวม 11.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จาก 10.86 ล้านล้านบาทเมื่อปลายปี 59

ทั้งนี้ มูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวเพิ่มขึ้นถึง 41% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้น 52,939 ล้านบาท และมีจำนวนผู้ออกรวม 69 บริษัท เพิ่มขึ้น 7 บริษัท โดยกลุ่มธุรกิจที่มียอดการออกสูงสุดได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ (Commerce) ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า

ส่วนมูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะสั้นในภาพรวมลดลง 25% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ออกส่วนหนึ่งหันไปออกตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มมากขึ้น

ด้านเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ในไตรมาส 1/60 มีกระแสเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้สุทธิ 69,037 ล้านบาท โดย 83.4% เป็นการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว และ 16.5% เป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น ทำให้มูลค่าเงินลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นไตรมาส 1/60 เท่ากับ 696,104 ล้านบาท หรือเท่ากับ 6.2% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย

สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในไตรมาส 1/60 ค่อนข้างนิ่ง เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปีถึง 20 ปี ปรับตัวลดลงโดยเฉลี่ย 2-12 bps ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 20 ปีขึ้นไป ปรับขึ้นเฉลี่ย 4-5 bps

นายธาดา กล่าวอีกว่า ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะยังทรงตัวตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะคงที่ในระดับ 1.5% ไปอีกระยะหนึ่ง โดยมีโอกาสจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อาจขยับขึ้นชัดเจนในช่วงหลังของปี

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี มีทิศทางเป็นช่วงขาขึ้น โดยอาจมีการแกว่งตัวที่ค่อนข้างกว้าง จากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐ ผลการเลือกตั้งในยุโรป และกระบวนการออกจากลุ่มสหภาพยุโรปของอังกฤษ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ