บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) คงเป้าหมายยอดขายปีนี้เติบโต 5-10% จากปีก่อน จากธุรกิจปิโตรเคมีที่ยังแข็งแกร่ง ชดเชยธุรกิจปูนซีเมนต์ที่ยังอ่อนแอ โดยคาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปีนี้อาจจะทำได้เพียง 39 ล้านตัน จากเป้าหมายที่คาดไว้ระดับ 40 ล้านตัน หลังในช่วงไตรมาส 1/60 ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์หดตัวแรง 7%
พร้อมเดินหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม ซึ่งจะสรุปการลงทุนกลางปีนี้ โดยจะไม่หาพันธมิตรเข้ามาเพิ่มเติมหลังการ์ต้าถอนการลงทุนไป ขณะเดียวกันยังร่วมกับบริษัทร่วมทุนในอินโดนีเซีย ศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ แห่งที่ 2 ในอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในกลางปี 61
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC กล่าวว่า บริษัทยังคงเป้ายอดขายปีนี้เติบโต 5-10% จากระดับ 4.23 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว เนื่องจากธุรกิจปิโตรเคมียังมีทิศทางที่ดี ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์ยังต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อไป หลังจากไตรมาสแรกความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศหดตัวลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้คาดว่าทั้งปีนี้ความต้องการใช้ปูนอาจจะไม่ได้ตามเป้าที่คาดว่าจะโต 1-3% มาที่ 40 ล้านตัน แต่อาจจะมีระดับ 39 ล้านตันเท่านั้น เนื่องจากขณะนี้แม้ว่าโครงการลงทุนสาธารณูปโภคของภาครัฐเดินหน้าบ้างแล้ว แต่ยังไม่เห็นการลงทุนของภาคเอกชนชัดเจนนัก
“ธุรกิจปิโตรเคมียังเป็นไปตาม cycle ตลาดโลก ที่ตอนนี้เป็น up cycle ในไตรมาสที่ผ่านมามาร์จิ้นสินค้าหลัก by product ค่อนข้างสูง outlook ปีนี้พอไปได้ ไตรมาสแรกดีทุกตัว แต่อีก 3 ไตรมาสจะเป็นแบบนี้ต่อคงไม่ใช่ อาจจะมีทั้งดีและไม่ดีสลับกันไป คงไม่ดีเหมือนกับไตรมาสแรก ส่วนซีเมนต์ ตลาดบ้านเราคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนยังต่ำกว่าปีที่แล้ว คงต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง ส่วนภูมิภาคยังไปได้ แพ็กเกจจิ้งก็ยังโตต่อเนื่อง แต่มาร์จิ้นอาจต่ำลงเล็กน้อย…เรายังไม่ปรับยอดขายในปีนี้ คือมีทั้งดีกว่าและด้อยกว่า ขอดูอีกสักไตรมาสหนึ่งก่อน “นายรุ่งโรจน์ กล่าว
นายรุ่งโรจน์ กล่าวด้วยว่า บริษัทพร้อมเดินหน้าการลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม ล่าสุดได้เข้าไปเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการเป็น 71% ทดแทนกลุ่มการ์ต้าที่ได้ถอนตัวไป ทำให้ปัจจุบันคงมีเพียงกลุ่มบริษัทและพันธมิตรในเวียดนามเท่านั้นที่จะเป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการ โดยจะไม่หาพันธมิตรใหม่เข้ามาเพิ่ม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปรายละเอียดกับพันธมิตร คาดว่าจะสรุปภายในกลางปีนี้ และเริ่มลงทุนในช่วงปลายปีนี้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี เริ่มผลิตได้ในปี 65 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการผลิตโอเลฟินส์ราว 1.6 ล้านตัน/ปี และยังมีปิโตรเคมีขั้นปลายอื่นอีก เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในเวียดนามและภูมิภาค
นอกจากนี้บริษัทร่วมทุน ภายใต้ PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตโอเลฟินส์ และโพลีโอเลฟินส์ในอินโดนีเซีย ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 30% นั้น อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้การดำเนินโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ แห่งที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะสรุปในกลางปี 61 ซึ่งการขยายกำลังการผลิตนั้นเนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตค่อนข้างมาก ขณะที่มี CAP รายเดียวที่เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีครบวงจรในอินโดนีเซีย
นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังมองหาโอกาสการเข้าซื้อกิจการและร่วมลงทุน (M&A) ในภูมิภาคอาเซียนต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ราว 50% ของเงินลงทุนทั้งปีนี้ที่ตั้งไว้ราว 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้เข้าซื้อโรงปูนซีเมนต์ ทางตอนกลางของเวียดนาม ขนาด 3.1 ล้านตัน/ปี เพื่อรองรับความต้องการของตลาดปูนซีเมนต์ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ผนวกกับโรงงานปูนซีเมนต์ของกลุ่มบริษัทที่มีอยู่ในอาเซียนได้เปิดดำเนินการหมดแล้ว ทำให้ปัจจุบันมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ในอาเซียนไม่นับรวมประเทศไทย รวม 10.5 ล้านตัน
"ยังมองหาโอกาสทำ M&A โรงปูนซีเมนต์ต่อเนื่อง หากเป็นโครงการที่ดีและมีโอกาสพัฒนาได้ต่อ โดยการมองหาจะไม่เป็นลักษณะการไล่ซื้อ เพราะว่ามีโรงปูนซีเมนต์ครอบคลุมในอาเซียนแล้ว"นายรุ่งโรจน์ กล่าว
ขณะเดียวกันที่ผ่านมาได้เข้าซื้อกิจการธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษคุณภาพสูงในอินโดนีเซียด้วย และมองโอกาสในการลงทุนบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท ทั้งบรรจุภัณฑ์กระดาษ และ Flexible Packing เพื่อเป็นการรองรับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในไทย และภูมิภาคอาเซียน
ณ วันที่ 31 มี.ค.60 บริษัทมีสินทรัพย์รวมในอาเซียน นอกเหนือจากไทย คิดเป็น 24% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท โดยมีรายได้จากธุรกิจที่มีฐานการผลิตในอาเซียนและจากการส่งออกไปยังอาเซียน 2.59 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 23% ของรายได้รวม
ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/60 มีกำไรสุทธิ 1.74 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดขายเติบโต 6% มาที่ 1.16 แสนล้านบาท โดยกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น มาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจปิโตรเคมี ประกอบกับมีกำไรจาการขายเงินลงทุนและสินทรัพย์ส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน 1.9 พันล้านบาท โดยในส่วนนี้กำไรราว 1.4 พันล้านบาท มาจากการขายหุ้นทั้งหมดในบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่เหลืออยู่ราว 1% ออกทั้งหมด