นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า บริษัทออกกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 146 (KTFF146) เสนอขายตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 อายุ 3 เดือน มูลค่าโครงการ 10,000 ล้านบาท เน้นลงทุนในเงินฝากประจำ China Construction Bank (Asia)Corporation Limited , Agricultural Bank of China (Hong Kong Branch ), AI Khaliji Commercial Bank , Union National Bank PJSC , United Arab Emirates , Abu Dhabi Commercial Bank , Bank Rakyat Indonesia (PERSERO) Tbk , Indonesia ในสัดส่วนสถาบันการเงินละ 18% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ยกเว้น Abu Dhabi Commercial Bank ลงทุนในสัดส่วน 10% ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 1.40% ต่อปี โดยกองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
สำหรับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากการที่ตลาดกลับมาลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยตามปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรปที่ลดน้อยลง หลังจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรกออกมาตามการคาดการณ์ของตลาด นอกจากนี้ ผลกระทบจากแรงขายของนักลงทุนและปัจจัยความเสี่ยงในตลาดที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ความต้องการประมูลพันธบัตรรุ่นอายุ 30 ปี ลดลง โดยมี Bid Coverage Ratio เพียง 1.13 เท่า
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสิทธิจำนวน 6,603 ล้านบาท โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวลดลง 1 bps มาอยู่ที่ 1.57% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 bps มาอยู่ที่ 2.13% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 bps มาอยู่ที่ 2.77% ต่อปี
ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐอเมริกา มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุตามแรงขายของนักลงทุน จากที่ตลาดกลับมาให้น้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ภายหลังจากปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรปเริ่มคลี่คลายลง สอดคล้องกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก รวมถึงมุมมองการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในประเทศตามแผนการปฎิรูประบบภาษีที่ทางรัฐบาลสหรัฐ ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสรุปผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 bps มาอยู่ที่ 1.26% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 bps มาอยู่ที่ 1.81%ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 bps มาอยู่ที่ 2.28%ต่อปี
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมีนาคม ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง และตัวเลขนักท่องเที่ยวยังฟื้นตัวดีขึ้น ธปท. คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1 มีโอกาสขยายตัวมากกว่า 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านกระทรวงพาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน ขยายตัว 0.38 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยทำให้ 4 เดือนแรกของอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.03% ซึ่งบลจ.กรุงไทย มองว่า อัตราเงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีการชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน