โบรกเกอร์แนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หลังกำไรสุทธิไตรมาส 1/60 สูงเกินคาดเซอร์ไพรส์ตลาด จากต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ลดลงและราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นช่วยหนุนราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับสูง และยังคงเป็นปัจจัยบวกต่อผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ PTTEP จะปรับลดปริมาณการขายปิโตรเลียมในปีนี้ลงจากเป้าหมายเล็กน้อยก็ตาม แต่นั่นก็ยังเป็นปัจจัยบวกต่อต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงด้วย ทำให้คาดว่าปีนี้กำไรจะเติบโตโดดเด่นจากปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มกำไรหลักในไตรมาส 2/60 อาจจะลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรก เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ซึ่งจะทำให้ปริมาณขายลดลงและค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น แต่ด้วยราคาก๊าซฯที่ปรับตัวสูงขึ้นจะช่วยชดเชยได้บ้าง
พร้อมมองเชิงบวกต่อการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้งบงกชและเอราวัณที่จะหมดอายุปี 65-66 ในช่วงปีนี้ ขณะที่แหล่งผลิตบงกช นับเป็นแหล่งผลิตสำคัญของ PTTEP ในปัจจุบัน และราคาหุ้นยังมี Upside จากการคาดการณ์ว่ากลุ่มโอเปกจะต่ออายุมาตรการลดกำลังการผลิตออกไปอีกจากเดิมจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.โดยโอเปกจะมีการประชุมกันในวันที่ 25 พ.ค.นี้
ราคาหุ้น PTTEP พักเที่ยงอยู่ที่ 97 บาท เพิ่มขึ้น 1 บาท (+1.04%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.20%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) บัวหลวง ซื้อ 118.00 เอเซีย พลัส ซื้อ 116.00 ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ซื้อ 110.00 เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 107.00 ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ซื้อ 105.00 แอพเพิล เวลธ์ ซื้อ 115.00 กสิกรไทย ซื้อ 115.00 ทรีนีตี้ ซื้อเมื่ออ่อนตัว 103.00 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อเก็งกำไร 106.00 ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า การประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/60 ของ PTTEP ที่ออกมามีกำไรสูงถึง 1.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับที่ดี แม้ส่วนหนึ่งมาจากกำไรจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติก็ตาม แต่ในส่วนของกำไรปกติยังเติบโตจากราคาขายที่ปรับตัวขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น และต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ที่ลดลงมากกว่าคาด ต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงและแนวโน้มราคาปิโตรเลียมที่ปรับตัวขึ้นจากปีที่แล้วก็จะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของ PTTEP ทั้งปีนี้ด้วย แม้ว่าภาพรวมปริมาณขายเฉลี่ยในปีนี้อาจจะลดลงจากปีที่แล้วก็ตาม ส่วนหนึ่งจากการปิดซ่อมบำรุงและจากความไม่แน่นอนของปริมาณการเรียกก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของผู้ซื้อ โดยราคาน้ำมันดิบตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่าผลการดำเนินงานของ PTTEP น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และทิศทางจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น "ต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลง และราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นจะช่วยหนุนผลประกอบการของ PTTEP แม้ว่าปริมาณขายปีนี้จะลดลงก็ตาม ส่วนหนึ่งมาจากการปิดซ่อมบำรุง"นายกิติชาญ กล่าว บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กำไรสุทธิของ PTTEP ในไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 1.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 118.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และพลิกจากขาดทุนสุทธิ 842 ล้านบาทในไตรมาส 4/59 โดยกำไรที่ออกมาดีเป็นผลมาจากการค้นพบปริมาณสำรองที่เพิ่มขึ้นประมาณ 90 ล้านบาร์เรล ได้ช่วยลดค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่ายโดยรวมลงกว่า 4 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/59 และไตรมาส 1/59 โดยลดต้นทุนต่อหน่วยจาก 31.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ 28.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 4/59 และไตรมาส 1/59 เป็น 27.8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 1/60 ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยโดยรวมยังปรับตัวสูงขึ้นจาก 35.8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 4/59 เป็น 38 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาสนี้อีกด้วย แม้ปริมาณขายโดยรวมจะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าที่เคยคาด แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคิดเป็นการลดลงของปริมาณขายเพียง 4% ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทกว่า 1.4 บาท/เหรียญสหรัฐ ยังส่งผลบวกให้กับค่าใช้จ่ายภาษีลดลงกว่า 4.5 พันล้านบาท หนุนให้กำไรโดยรวมสามารถฟื้นตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ แนวโน้มปริมาณการขายที่ต่ำลงจากปริมาณการขายของแหล่งต่าง ๆ ในไทยที่ต่ำลง เพราะถูกชดเชยการนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่สูงขึ้น จะทำให้ประมาณการปริมาณขายในปีนี้จะต่ำกว่าที่คาดไว้เดิมราว 2.5% แต่ต้นทุนที่ต่ำลงจากการเพิ่มปริมาณสำรอง ซึ่งส่งผลต่อค่าเสื่อมราคาและค่าตัดตำหน่าย จะหนุนทำให้สมมติฐานต้นทุนต่อหน่วยที่ประมาณการต่ำลงจาก 30.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 29.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อกำไรมากกว่า โดยได้ปรับประมาณการกำไรในปีนี้และปีหน้าขึ้น 30% และ 19% เป็น 3.05 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 137.3% จากปี 59) และ 3.86 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 26.4% จากปี 60) ตามลำดับ ฟื้นตัวขึ้นโดดเด่นจากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้นและต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลประกอบการเกิดความผันผวนระหว่างไตรมาสได้ ด้านบทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุว่า ฐานกำไรที่สูงของ PTTEP ในไตรมาส 1/60 ทำให้คาดว่ากำไรในไตรมาส 2/60 จะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก เนื่องจากไม่มีกำไรจากรายการพิเศษ อีกทั้งคาดว่ากำไรหลักลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงในแหล่งก๊าซฯ ส่งผลให้ปริมาณยอดขายลดลงและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยคาดยอดขายปิโตรเลียมจะอยู่ที่ 3 แสนบาร์เรล/วัน เป็นไตรมาสที่ต่ำสุดในรอบปี และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาขายก๊าซฯที่สูงขึ้น ซึ่ง PTTEP คาดว่าจะสูงขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 5.5 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูนั้น เชื่อว่าจะชดเชยปัจจัยลบได้บ้าง นอกจากนี้ PTTEP ยังได้ปรับลดยอดขายปิโตรเลียมในปีนี้มาอยู่ที่ 3-3.1 แสนบาร์เรล/วัน จากเดิมที่ 3.12 แสนบาร์เรล/วัน เพื่อสะท้อนปัจจัยที่ บมจ.ปตท.(PTT) ซึ่งเป็นผู้ซื้อปิโตรเลียมได้นำเข้า LNG มากขึ้น และปริมาณขายก๊าซฯในแหล่ง MTJDA ลดลง อย่างไรก็ดี ในแง่บวก PTTEP สามารถปรับลดค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลงจาก 31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อีกทั้งปรับเพิ่มประมาณการราคาขายก๊าซฯขึ้นจาก 5.3 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เป็น 5.5 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งจากประมาณการโดยรวมของ PTTEP ทำให้มองว่า บล.บัวหลวง มีโอกาสจะปรับขึ้นประมาณการกำไรสุทธิในปีนี้ได้อีก จากเดิมที่ประมาณการกำไรก็สูงกว่าตลาดอยู่แล้ว บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ด้วยว่า PTTEP ได้ sentiment เชิงบวกต่อการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 65-66 และมี Upside ต่อการต่ออายุการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในการประชุมวันที่ 25 พ.ค.นี้ ขณะที่คาดผลประกอบการของ PTTEP จะทำจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/60 หลังราคาก๊าซฯผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มกำลังการผลิตยังน่ากังวลจากปริมาณเรียกก๊าซ PTT ที่มีแนวโน้มลดลง