ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม JMT ที่ “BBB/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 4, 2017 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่ยาวนานในธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินและการมีคณะผู้บริหารที่มากประสบการณ์ของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการเติบโตที่สม่ำเสมอของธุรกิจบริการติดตามเร่งรัดหนี้สิน การเติบโตที่รวดเร็วของการลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเพื่อนำมาบริหารในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และความสามารถในการทำกำไรในระดับที่น่าประทับใจของบริษัทด้วย

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย ตลอดจนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และกลุ่มลูกหนี้เป้าหมายของบริษัทที่มีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ นอกจากนี้ ความสามารถในการสร้างผลประกอบการทั้งทางด้านการดำเนินงานและการเงินในระดับที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่องยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ต่อไปเช่นกัน

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและผลประกอบการที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังคาดว่าการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารและการติดตามหนี้จะเติบโตในอัตราที่สม่ำเสมอพร้อมกับมีผลประกอบการทั้งในด้านการดำเนินงานและฐานะการเงินในระดับที่น่าพอใจด้วยเช่นกัน

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทสามารถขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและคงความสามารถในการทำกำไรในระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากการบริหารหนี้ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามที่คาดไว้ และการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนเพิ่มอย่างมาก

JMT ก่อตั้งในปี 2537 โดย บมจ. เจมาร์ท (JMART) ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท หลังจากนั้นบริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2557 โดยกลุ่มเจมาร์ทยังคงสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 56.1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท ณ วันที่ 8 มีนาคม 2560 บริษัทดำเนินธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สิน ฟ้องสืบทรัพย์ และบังคับคดีทั่วประเทศ ต่อมาบริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ยังประกอบธุรกิจนายหน้าประกันภัยผ่าน บริษัท เจ อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ จำกัด (JIB) ณ สิ้นปี 2559 บริษัทมีโครงสร้างรายได้หลักมาจากธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ 69% ธุรกิจเร่งรัดติดตามหนี้ 13% ธุรกิจสินเชื่อ 18% และรายได้อื่นๆ 1%

บริษัทให้บริการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพและติดตามเร่งรัดหนี้สินภายในประเทศโดยเน้นหนี้สินของสถาบันการเงิน ความเชี่ยวชาญในการติดตามหนี้มากว่า 20 ปีเมื่อรวมกับการมีฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมากทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขัน บริษัทจึงเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สิน มูลหนี้ที่บริษัทได้รับมอบหมายให้ติดตามจากผู้ว่าจ้างเติบโตอย่างรวดเร็วภายใน 6 ปีเป็น 18,291 ล้านบาทในปี 2559 จาก 12,375 ล้านบาทในปี 2010 คิดเป็นการเติบโตสะสมเฉลี่ย (CAGR) 9% ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 บริษัทมีมูลหนี้ที่ได้รับมอบหมายให้ติดตาม ประกอบด้วยสินเชื่อที่มีพาหนะเป็นหลักประกันคิดเป็น 43% ตามมาด้วยหนี้กลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล 25% หนี้กลุ่มบัตรเครดิต 18% หนี้สินเชื่อบ้าน 6% และหนี้สินเชื่ออื่น 9% ของมูลหนี้ทั้งหมดที่ได้รับมอบหมาย

ธุรกิจนี้สามารถสร้างรายได้ในรูปของค่าบริการ คือ Commission Rate มูลหนี้ที่ได้รับมอบหมายเป็นกลุ่มลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2557-2558 อันเป็นผลมาจากโครงการลดหย่อนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในช่วงปี 2554-2555 อัตราค่าบริการการให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินในประเทศไทยปรับตัวลดลงจาก 24% ในปี 2556 เหลือประมาณ 10% ในปี 2557, 6.9% ในปี 2558 และ 7.4% ในปี 2559 เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีพาหนะเป็นหลักประกันจึงมีอัตราค่าบริการค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นหนี้ที่ค้างชำระไม่นานซึ่งจะมี Success Rate ในการจัดเก็บหนี้ที่สูงขึ้น บริษัทสามารถรักษารายได้จากการติดตามเร่งรัดหนี้สินในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในระดับประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มขึ้นเป็น 135 ล้านบาทในปี 2559 สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ต้องจำหน่ายหนี้ด้อยคุณภาพของตนออกไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพื่อบริหารอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของตนเองในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อนำมาบริหาร โดยเงินลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 439 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 1,606 ล้านบาทในปี 2557 และ 1,319 ล้านบาทในปี 2558 ในปี 2559 บริษัทได้ซื้อหนี้เข้ามาบริหารอีกราว 19,600 ล้านบาทโดยใช้เงินลงทุน 906 ล้านบาท พอร์ตหนี้เสียภายใต้การบริหารของบริษัทอยู่ที่ 108,283 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 บริษัทมีมูลค่าของเงินลงทุนต่อมูลหนี้ด้อยคุณภาพที่ซื้อเข้ามาบริหารคิดเป็น 5% การลงทุนซื้อหนี้เข้ามาบริหารของบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วเพียงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านเท่านั้น ดังนั้น บริษัทจึงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสามารถในการสร้างผลประกอบการทั้งในด้านการดำเนินงานและด้านการเงินที่น่าประทับใจจากการบริหารหนี้จำนวนมากที่ซื้อเข้ามาให้เป็นที่ปรากฏต่อไป

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 บริษัทได้เริ่มให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลโดยส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่มเจมาร์ทซึ่งเป็นบริษัทแม่ สินเชื่อส่วนบุคคลดังกล่าวดำเนินการโดย บริษัท เจเอ็มที พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น J Fintech ในเดือนพฤศจิกายน 2559 บริษัทสละสิทธิ์การเพิ่มทุนบริษัทย่อย J Fintech ให้กับ JMART ซึ่งเป็นบริษัทแม่เข้ามาเพิ่มทุนแทน ทำให้สัดส่วนการลงทุนของบริษัทใน J Fintech ลดลงจาก 99% เหลือเพียง 9% ทำให้ J Fintech เปลี่ยนสถานะจากบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วม

ผลประกอบการของบริษัทเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 163 ล้านบาทในปี 2557, 215 ล้านบาทในปี 2558 และ 349 ล้านบาทในปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับ 92 ล้านบาทในปี 2556 ความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทค่อนข้างแข็งแกร่งจากการขยายธุรกิจบริหารหนี้ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรค่อนข้างผันผวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการลงทุนซื้อหนี้เข้ามาบริหาร ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 60% เป็น 120 ล้านบาทในปี 2557 จาก 75 ล้านบาทในปี 2556 กำไรสุทธิปรับตัวลดลงเป็น 94 ล้านบาทในปี 2558 ซึ่งเป็นผลจากการบันทึกสำรองหนี้สูญเงินลงทุนในลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นของเงินลงทุนในลูกหนี้จากธุรกิจบริหารหนี้ บริษัทรายงานผลกำไรในปี 2559 ที่ 290 ล้านบาทโดยรวมกำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบริษัทย่อยเป็นเงินลงทุนระยะยาวอื่น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรที่ 30% ต่อปีในเวลา 3 ปีข้างหน้า โดยแรงผลักดันสำคัญในการเติบโตจะมาจากการจัดเก็บหนี้จากหนี้ที่ซื้อเข้ามาบริหาร

สภาพคล่องของบริษัทในปี 2557-2559 ปรับตัวลดลงจากปี 2556 จากภาระหนี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เงินกู้รวมของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากการขยายธุรกิจการลงทุนซื้อหนี้เข้ามาบริหาร และธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 1,852 ล้านบาทในปี 2559 จาก 84 ล้านบาทในปี 2555 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 66.2% ในปี 2557 จาก 23.8% ในปี 2556 เช่นเดียวกันกับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 เท่าในปี 2557 และ 0.5 เท่าในปี 2556 การเพิ่มทุนในปี 2558 ทำให้อัตราส่วนโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 53.6% ในปี 2558 และ 48.9% ในปี 2559 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงเหลือ 1.2 เท่าในปี 2558 และปี 2559 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้ว (รวมค่าตัดจำหน่ายเงินลงทุนในหนี้ด้อยคุณภาพ) ต่อเงินกู้รวมของบริษัทลดลงเป็น 26.2% บริษัทมีอัตราส่วนกำไรที่ปรับปรุงแล้วก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (รวมค่าตัดจำหน่ายเงินลงทุนในหนี้ด้อยคุณภาพ) ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับที่สูงกว่า 13 เท่าในปี 2559 บริษัทมีแผนการขยายธุรกิจซื้อหนี้เข้ามาบริหารด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณปีละ 1,500 ล้านบาทในการซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่ม ทำให้ภาระหนี้ของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบัน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ที่ประมาณ 60% และอัตราหนี้สินต่อทุนให้ต่ำกว่า 2.5 เท่าในช่วงดังกล่าว

ทริสเรทติ้งเห็นว่าความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและความเสี่ยงจากการดำเนินงานอาจเป็นปัจจัยด้านลบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ปัจจุบันบริษัทดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลต่อความเสี่ยงทางด้านชื่อเสียงขององค์กร ภายใต้กฎหมายใหม่ดังกล่าว ผู้ว่าจ้างมีความต้องการผู้ให้บริการที่มีมาตรฐานความเป็นมืออาชีพมากขึ้นในการติดตามหนี้สิน ทริสเรทติ้งจึงคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษามาตรฐานคุณภาพการให้บริการการติดตามเร่งรัดหนี้สินภายใต้มาตรฐานกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นนี้ต่อไปเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ