นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า คณะผู้บริหารของธนาคารได้กำหนดโรดแมพ 5 ปี (ปี 60-64) เพื่อนำทางไปสู่แนวปฎิบัติด้านการธนาคารรูปแบบใหม่ รองรับความเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมของไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎระเบียบ ,ความต้องการของลูกค้า และการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล โดยตามโรดแมพ 5 ปี ธนาคารตั้งเป้าที่จะขึ้นไปเป็นธนาคารขนาดกลาง หรือ มีกำไรก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่มีผลขาดทุนสุทธิ 629.53 ล้านบาท
ตามแผนโรดแมพดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงที่ 1 (ปี 60-61) จะเป็นช่วงเวลาของการปรับปรุงผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นในระยะเวลาอันสั้น โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ กระชับขั้นตอนการทำงาน เร่งสร้างการเติบโตของรายได้ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เงินกองทุนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ดีที่สุด
ช่วงที่ 2 (ปี 62-63) เป็นช่วงเวลาแห่งการเพิ่มขีดความสามารถและเร่งเครื่องยนต์ โดยการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ จากธุรกิจหลัก อันได้แก่ ธุรกิจลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ธุรกิจไพรเวทแบงก์กิ้ง และดิจิทัลแบงก์กิ้ง
"เราเห็นโอกาสที่ดีมากในการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้ และถ้าเราทำได้ จะช่วยให่เราเติบโตได้อย่างก้าวกระโดในระยะเวลาอันสั้น"นายกิตติพันธ์ กล่าว
นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า ช่วงที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของแผน ซึ่งจะเป็นการวิ่งเข้าสู่เป้าหมายในการเป็นธนาคารขนาดกลางและมีจุดแข็งด้านอาเซียนภายในปี 65 ที่จะมีบุคลากรผู้มีความสามารถเข้ามาร่วมงานด้วย และมีความพร้อมด้านการเงินต่าง ๆ ที่จะสามารถควบรวมกิจการและซื้อกิจการ หากมีโอกาสเข้ามา
ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้การดำเนินงานในช่วงที่ 1 ซึ่งเป็นเวลาแห่งการปรับปรุงผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นในระยะเวลาอันสั้น และเดินยุทธศาสตร์ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านได้ถูกทาง ทางธนาคารจึงได้จ้างที่ปรึกษาระดับโลกเข้ามาช่วยตรวจสอบความเหมาะสม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้ถือหุ้น ลูกค้า และพนักงานของธนาคาร
โดยในปีนี้ทางธนาคารได้วางยุทธศาสตร์ โดยเริ่มจากการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ โดยทางธนาคารเตรียมที่จะขายหนี้มูลค่าเป็นหลักร้อยล้านบาท เพื่อที่จะให้ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ระดับไม่เกิน 5% จาก ณ สิ้นไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 5.1% ต่อมาคือการเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และการใช้ประโยชน์จากเงินกองทุนให้มาประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดถือว่าเป็นหัวใจหลักของการบริหารงานในปีนี้
สำหรับธุรกิจรายย่อยในปีนี้จะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มาจาก 3 แกนหลัก ได้แก่ Wealth Center เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างตรงจุด ด้วยบริการที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการขยายขอบเขตความร่วมมือกับพันธมิตรในปัจจุบัน และจับมือพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น และสุดท้ายคือการเดินหน้ายุทธศาสตร์ดิจิทัลแบงก์กิ้ง โดยจะหานวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาสนับสนุนซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถแข่ขันได้
ยุทธศาสตร์สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ช่วงที่ผ่านมาได้ปรับโครงสร้างภายใน โดยจะเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม นอกจากนี้ยังได้ปรับกระบวนการภายในให้เหมาะสมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันธนาคารจะเน้นการปรับประสิทธิภาพภายในสินทรัพย์และได้มาตรฐานด้วยขั้นตอนและการส่งมอบงานให้กับลูกค้าให้มีเวลาลดลง
ส่วนลูกค้าขนาดใหญ่จะมุ่งเน้นการให้บริการแก่บริษัทเอกชนที่มีเป้าหมายสู่การไปอาเซียนอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากธุรกิจนี้และยั่งยืน ผ่านการขายผลิตภัณ์ข้ามกลุ่ม (cross-sell) นอกจากนี้ยังจะมีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีด้วยการลดความซ้ำซ้อน และบริหารผลกำไรอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
นายกิตติพันธ์ กล่าวถึงเป้าหมายปีนี้ว่า ธนาคารตั้งเป้าปีนี้จะกลับมามีกำไร โดยจะเพิ่มอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ไม่ต่ำกว่า 6% จากปีก่อนที่ติดลบอยู่ 2.3% การเติบโตของสินเชื่อ (สินเชื่อและธุรกรรมตลาดเงิน) 5-10% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มเป็น 3.8% จากปีก่อนที่ 3.77%