ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ CK วงเงินไม่เกิน 4 พันลบ.ที่ระดับ “A-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 9, 2017 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 12 ปี ของ บมจ. ช. การช่าง (CK) ที่ระดับ “A-" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ “A-" เช่นเดียวกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระคืนหนี้

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำในประเทศไทย ตลอดจนความสามารถในการรับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งความยืดหยุ่นทางการเงินจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและการแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนภาระหนี้ในระดับสูงของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ได้งานใหม่จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานให้อยู่ในระดับสูงกว่า 6% โดยเฉลี่ยแม้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงก็ตาม รวมทั้งรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 65% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ปัจจัยที่จะทำให้อันดับเครดิตปรับเพิ่มขึ้นได้แก่กรณีที่บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้สูงกว่าประมาณการและสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 60% เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องได้ ในขณะที่ปัจจัยลบสำหรับอันดับเครดิตได้แก่การมีต้นทุนก่อสร้างในโครงการหลัก ๆ ที่สูงกว่าประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ หรือการให้การสนับสนุนทางการเงินที่มีมูลค่าสูงแก่บริษัทในกลุ่มนอกเหนือจากประมาณการซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อกระแสเงินสดของบริษัทเป็นอย่างมาก

CK ก่อตั้งในปี 2515 โดยตระกูลตรีวิศวเวทย์ บริษัทเริ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโดยการรับงานจากหน่วยงานภาครัฐ ต่อมาบริษัทได้ขยายขอบเขตงานมากขึ้นและได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2538 บริษัทมีประสบการณ์ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ยาวนานโดยมีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างทั่วไปจนถึงงานก่อสร้างที่มีความซับซ้อนสูง

ในปี 2559 บริษัทมีรายได้รวมเป็นสถิติสูงสุดใหม่อยู่ที่ 45,809 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 31.4% จาก 34,851 ล้านบาทในปี 2558 โดยรายได้ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 53% ของรายได้รวม อีกทั้งบริษัทยังได้งานเพิ่มในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีมูลค่า 19,400 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของโครงการด้วย ถึงแม้จะได้งานเพิ่มมูลค่าสูง แต่บริษัทก็ต้องเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการในรูปแบบเงินให้กู้ยืมด้วย

โดยบริษัทได้ให้เงินกู้เพื่อสนับสนุนโครงการแก่ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด จำนวน 13,547 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ทั้งหมดไม่เกินปี 2574 ทั้งนี้ บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จะชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่บริษัทหลังจากวันเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ซึ่งกำหนดไว้ในปี 2562 โดยการชำระคืนหนี้เงินกู้จะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ เป็นสำคัญ

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในปี 2559 ต่ำกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งเล็กน้อย โดยอัตรากำไรลดลงมาอยู่ที่ 7.2% จาก 8.2% ในปี 2558 เนื่องจากอัตรากำไรที่ต่ำกว่าปกติในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย โดยบริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ 3 รายแรกในระดับต้น ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในแง่ของรายได้ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลงานของบริษัทในการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และโครงการที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้านด้วย ในช่วงปลายปี 2559 บริษัทชนะการประมูลงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำนวน 3 สัญญาซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 47,000 ล้านบาทภายใต้ชื่อกิจการร่วมค้าซีเคเอสที

ทั้งนี้ กิจการร่วมค้าซีเคเอสทีมี บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 40% และอีก 60% บริษัทเป็นผู้ถือ ณ สิ้นปี 2559 บริษัทมีงานรับเหมาก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบมูลค่า 83,400 ล้านบาท โดยมีโครงการหลักได้แก่ โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีซึ่งมีมูลค่า 27,100 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มสัญญาที่ 1 สัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 5 มูลค่ารวม 26,300 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระถึงขอนแก่นมูลค่า 13,000 ล้านบาท โครงการทั้ง 3 โครงการมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการผสานธุรกิจและความยืดหยุ่นทางการเงินจากการลงทุนในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทด้วย ทั้งนี้ รูปแบบธุรกิจของบริษัทคือการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายขอบเขตธุรกิจเบื้องต้นของบริษัท ซึ่งได้แก่งานรับเหมาก่อสร้าง นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายประเภท แต่มีการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 3 ราย ได้แก่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) และ บมจ.ซีเคพาวเวอร์ (CKP) โดยบริษัททั้ง 3 แห่งดำเนินงานเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ระบบขนส่งมวลชนและสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานหรือสัญญาซื้อขายระยะยาวซึ่งจะทำให้บริษัทได้รับเงินปันผลอย่างต่อเนื่องจากการลงทุน ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทเหล่านี้ยังจ้างบริษัทให้ดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เป็นส่วนของการขยายงานของแต่ละบริษัทอีกด้วย

ในทางกลับกัน อันดับเครดิตของบริษัทถูกลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้รับเหมาก่อสร้างด้วยกันเอง โดยโครงการส่วนใหญ่ที่ได้รับจะผ่านการประมูลงานที่แข่งขันกันสูงซึ่งทำให้มีอัตรากำไรไม่มาก จากผลของการที่ภาคเอกชนชะลอการลงทุน บริษัทจึงเน้นงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเป็นอย่างมาก โดยรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความล่าช้าในขั้นตอนการประมูลงานและการจัดจ้างซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้รับเหมาก่อสร้าง

อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ที่สูงของบริษัทด้วย โดย ณ สิ้นปี 2559 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 72.4% คงเดิมจากปี 2558 อัตราส่วนดังกล่าวคาดว่าจะลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 65% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4 แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเมื่อพิจารณาจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและเงินให้กู้ยืมระยะยาว โดย ณ สิ้นปี 2559 โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีได้เบิกเงินให้กู้ยืมไปแล้วจำนวน 10,055 ล้านบาท อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทอยู่ในระดับต่ำที่ 2.6% ณ เดือนธันวาคม 2559 ทริสเรทติ้งมองว่าภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันแม้ว่าบริษัทจะมีภาระหนี้สูงกว่าผู้รับเหมารายอื่น ๆ ที่ได้รับอันดับเครดิตเท่ากันก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากการประเมินอันดับเครดิตได้มีการพิจารณาถึงโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทที่เป็นทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างและประกอบธุรกิจลงทุนด้วย

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 38,000-42,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2562 โดยจะเป็นรายได้จากโครงการไซยะบุรีประมาณ 7,000-9,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 15%-20% ของประมาณการรายได้ ทั้งนี้ งานรับเหมาก่อสร้างในมือจำนวนมากที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของประมาณการรายได้ในปี 2560 และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ในปี 2561 และ 35% ในปี 2562 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ในช่วงปี 2560-2562 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 6% โดยเฉลี่ย ส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทนั้นคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 2,700 ล้านบาทต่อปี

บริษัทมีสภาพคล่องที่เหมาะสม โดย ณ สิ้นปี 2559 บริษัทมีเงินสดถึง 11,400 ล้านบาทและมีเงินลงทุนชั่วคราวอีกจำนวน 1,130 ล้านบาท ในขณะที่ภาระหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้ามีจำนวนประมาณ 6,600 ล้านบาท นอกจากนี้ เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 3 แห่งยังช่วยเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทอีกด้วย โดย ณ สิ้นปี 2559 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวมีมูลค่ายุติธรรมอยู่ที่ 50,300 ล้านบาท หรือประมาณ 88% ของภาระหนี้รวมของบริษัท ทั้งนี้ ในช่วงปี 2560-2562 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 3 เท่า ส่วนอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ในช่วง 6%-8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ