(เพิ่มเติม) PTTEP เตรียมสู้คดีน้ำมันรั่ว-ยันยึดทรัพย์ไม่ได้, ระงับลงทุนโครงการใหม่ในอินโดฯจนกว่ามีข้อยุติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 9, 2017 12:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัท และ PTTEP Australasia (Ashmore Cartier) หรือ PTTEP AA ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ในฐานะผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินการโครงการมอนทารา ยังไม่ได้รับเอกสารเกี่ยวกับการฟ้องร้องค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลของแหล่งมอนทาราในทะเลติมอร์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 52 อย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอินโดนีเซีย จึงไม่ทราบรายละเอียดของการยื่นฟ้องครั้งนี้

"ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับคำฟ้องคดีดังกล่าว คาดว่าจะอยู่ระหว่างการแปลเอกสาร เพราะทางรัฐบาลอินโดนีเซียยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลอินโดนีเซีย ซึ่งมีสำนวนเป็นภาษาอินโดนีเซีย แต่ได้รับทราบจากข่าวที่เกิดขึ้นและได้เตรียมเอกสารเพื่อต่อสู้คดีต่อไป "นายสมพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้รับทราบว่า รัฐบาลอินโดนีเซียฟ้องคดีทั้งต่อ บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ , PTTEP และ PTTEP Australasia (PTTEP AA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและเป็นผู้ดำเนินการในแหล่งมอนทารา ซึ่งบริษัทได้เตรียมความพร้อมในการต่อสู้คดีไว้แล้ว โดยเลือกใช้ที่ปรึกษากฎหมายทั้งจากอินโดนีเซีย ไทย และออสเตรเลีย

โดยเบื้องต้นที่ปรึกษากฎหมายเห็นว่า การยึดทรัพย์สินของ PTTEP และ PTTEP AA ไม่สามาถรถกระทำได้ตามหลักกฎหมาย เพราะคำตัดสินของศาลอินโดนีเซีย ไม่สามารถบังคับคดีกับ PTTEP และ PTTEP AA เนื่องจากอยู่คนละประเทศ อีกทั้งไทย ,อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ไม่มีสนธิสัญญาการยอมรับคำพิพากษาระหว่างประเทศ ซึ่งการฟ้องร้องจะสามารถบังคับคดีได้นั้น จะต้องมาฟ้องในไทย และอาจนำคำพิพากษาของศาลอินโดนีเซียมาเป็นพยานในศาลไทย

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าทางการอินโดนีเซียก็จะไม่สามารถยึดทรัพย์สินที่มีอยู่ในแหล่งนาทูน่า ซี เอ ได้ เนื่องจากผู้ถือหุ้นในแหล่งดังกล่าว อยู่ภายใต้บริษัท PTTEP Netherlands Holding Cooperatie U.A. ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลกับ PTTEP AA ที่ถืออยู่ในแหล่งมอนทารา

นายสมพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทและรัฐบาลอินโดนีเซีย ได้เคยมีความพยายามจะหาข้อตกลงเบื้องต้นสำหรับกรณีดังกล่าว แต่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ จนนำมาสู่การตัดสินใจของรัฐบาลอินโดนีเซียในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับกลุ่มบริษัท ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาบริษัทก็ยังไม่ได้ชดใช้ความเสียหายให้กับทางอินโดนีเซีย มีเพียงการชดใช้ความเสียหายให้กับทางออสเตรเลียอันเนื่องจากความประมาทเท่านั้น

"บริษัทยังคงมีความเชื่อมั่นในผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและพร้อมที่จะพิสูจน์ว่าไม่มีความเสียหายตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลอินโดนีเซีย และปัจจุบันยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่าบริษัทจะต้องตั้งสำรองจากกรณีการฟ้องร้องดังกล่าวหรือไม่"นายสมพร กล่าว

นายสมพร ยังกล่าวอีกว่าว่า ขณะนี้บริษัทได้ตัดสินใจระงับโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาการเข้าลงทุนใหม่ในอินโดนีเซีย ที่ปัจจุบันพิจารณาที่จะทำการซื้อกิจการ (M&A) มากกว่า 1 โครงการ ออกไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนหรือมีข้อยุติคดีที่รัฐบาลอินโดนีเซียฟ้องกลุ่มบริษัท

ส่วนโครงการเดิมที่บริษัทมีการลงทุนอยู่แล้วในอินโดนีเซีย 1 โครงการ คือ โครงการนาทูน่า ซี เอ ที่ถือหุ้นอยู่ 11.5% นั้น ก็จะยังคงดำเนินการผลิตตามปกติไม่มีการระงับการลงทุนแต่อย่างใด โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติประมาณ 224 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และน้ำมันดิบประมาณ 1,200 บาร์เรล/วัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1% ของปริมาณการขายทั้งหมดของบริษัท

"โครงการที่มีการผลิตอยู่แล้วในอินโดฯก็ยังคงลงทุนต่อไป ส่วนการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการใหม่ ๆ ที่เราสนใจทำ M&A ซื้อโครงการ หรือเข้าไปสำรวจ ณ วันนี้โครงการเหล่านี้ก็ต้องระงับไปก่อน ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1 โครงการ"นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวว่า แม้ว่าอินโดนีเซียจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของบริษัทที่มองหาโอกาสการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การระงับโครงการลงทุนใหม่เชื่อว่าจะไม่กระทบมากนัก เพราะบริษัทจะมุ่งเน้นพิจารณาการลงทุนในพื้นที่เมียนมา ไทย มาแลเซีย เป็นอันดับต้นๆ อีกทั้งการพิจารณาศึกษาลงทุนโครงการใหม่ในอินโดนีเซียนั้นเบื้องต้นก็เป็นโครงการขนาดไม่ใหญ่นัก

แต่บริษัทยังยืนยันที่จะให้ความสำคัญในการทำ M&A ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบริษัทมีความเข้าใจและประสบการณ์อยู่แล้ว ทำให้เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลอินโดนีเซียฟ้องคดี และจะไม่กระทบต่องบลงทุนที่ตั้งไว้ 5 ปี (ปี 60-64) ราว 9 พันล้านเหรียญสหรัฐด้วย เนื่องจากเป็นงบลงทุนในโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนหากมีการทำ M&A ก็จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีเงินสดกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อรองรับการลงทุนต่างๆได้ โดยยืนยันว่าบริษัทมีความพยายามที่จะให้มีข้อยุติในการเข้าซื้อกิจการใหม่ได้ในปีนี้

สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทก็จะมีการบริหารจัดการเพื่อรองรับราคาน้ำมันดิบที่ยังมีความผันผวนอยู่ ซึ่งจากประมาณการที่ทำไว้คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีนี้จะอยู่ที่ราว 49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยมีเป้าหมายที่จะทำต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ให้อยู่ในระดับไม่สูงกว่าปีที่แล้ว รวมถึงจะให้ความสำคัญในการเพิ่มการผลิตจากแหล่งน้ำมันดิบ ทั้งจากแหล่งสิริกิติ์ (S1) และการผลิตคอนเดนเสท ซึ่งมีสถานะเป็นของเหลวเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยความไม่แน่นอนของปริมาณการเรียกก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจากผู้ซื้อที่ได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาต่ำ

ส่วนการประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณที่จะหมดอายุในปี 65-66 นั้น บริษัทได้เตรียมความพร้อมตลอดเวลา แต่หากรัฐบาลจะเลื่อนประมูลจากเดิมที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นทั้งหมดภายในปลายปีนี้ออกไปนั้น ก็จะทำให้การคงอัตราการผลิตเพื่อรองรับกับตลาดใน 5-6 ปีข้างหน้าเป็นสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ แต่กรณีที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ