ฟิทช์คงอันดับเครดิต BBL-KBANK-SCB-KTB ทั้งสกุลเงินตราตปท.ระยะยาว-เครดิตในปท.ระยะยาว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 9, 2017 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ของประเทศไทย โดยธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้รับการคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency IDR) ที่ ‘BBB+’ ในขณะเดียวกันธนาคารกรุงไทย(KTB) ได้รับการคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารทั้ง 4 แห่งได้รับการคงอันดับที่ ‘AA+(tha)’

นอกจากนี้ฟิทช์ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทอีก 2 แห่งที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ คือ บล.กสิกรไทย และ บล.ไทยพาณิชย์ ซึ่งได้รับการคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ ทั้งนี้แนวโน้มอันดับเครดิตทั้งหมดมีเสถียรภาพ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL KBANK และ SCB พิจารณาจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (Viability Rating หรือ VR)

ขณะที่อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB มีปัจจัยพิจารณามาจากอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ของธนาคาร และอยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ KTB ในกรณีที่มีความจำเป็น

อันดับเครดิตภายในประเทศของ บล.กสิกรไทย และ บล.ไทยพาณิชย์ พิจารณาจากการที่บริษัททั้งสองมีสถานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่ ซึ่งคือ KBank และ SCB ตามลำดับ โดยทั้งสองบริษัทมีบทบาทที่สำคัญในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจรูปแบบธนาคารครบวงจร (universal banking strategy) ของธนาคารแม่ อีกทั้งธนาคารแม่ยังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทลูก และยังมีการผสานการดำเนินงานและบริหารงานกันอย่างใกล้ชิดมาก

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL, KBANK, SCB และ KTB สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทยและฐานลูกค้าขนาดใหญ่ ความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารทั้ง 4 แห่ง มีการปรับตัวด้อยลง โดยเฉพาะในด้านอัตรากำไรและด้านคุณภาพสินทรัพย์ เนื่องจากผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศและน่าจะยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยังคงไม่เอื้ออำนวยนักต่อการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังคงคาดว่าธนาคารทั้ง 4 แห่งน่าจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งทางการเงินในระดับที่ยอมรับได้เมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกัน

BBL มีเครือข่ายทางธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าธุรกิจต่างประเทศ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL สะท้อนถึงความระมัดระวังในด้านระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ของธนาคารซึ่งฟิทช์คาดว่าน่าจะช่วยให้ธนาคารมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่ดีกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นภายในช่วงวัฏจักรของธุรกิจและมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงกว่าธนาคารอื่น (ในด้านระดับของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ) นอกจากนี้อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของ BBL โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารอยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

KBANK มีเครือข่ายทางธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในขณะที่ธนาคารยังคงมีความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมอยู่ในระดับดี ความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของ KBank อาจได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยังคงอ่อนแอในระดับที่มากกว่า เนื่องจากธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น (42% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2559) อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่า KBANK น่าจะสามารถรักษาความสามารถในการรองรับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เพียงพอได้ ในด้านของฐานะเงินกองทุน ระดับของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และด้านรายได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยช่วยลดความเสี่ยง ดังนั้นความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของธนาคารน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ดีและเทียบได้กับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกัน

SCB มีเครือข่ายธุรกิจธนาคารครบวงจร (universal bank) ที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านลูกค้ารายย่อย นอกจากนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของ SCB ซึ่งเห็นได้จากการสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ค่อนข้างสูง การควบคุมต้นทุนที่ดีและการกระจายตัวของแหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลาย ฟิทช์มองว่า SCB มีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในช่วงปีก่อนๆ ที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าบ้างเมื่อเทียบกันธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อื่น โดยมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่า SCB ได้รักษาระดับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เพียงพอ ในด้านอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และฐานะเงินกองทุน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB อยู่ต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่อยู่ 2 อันดับ ซึ่งสะท้อนถึงฐานะทางการเงินโดยรวมที่อ่อนแอกว่า โดยธนาคารมีอัตราส่วนทางการเงินด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยกว่าตลอดช่วงวัฏจักรของธุรกิจที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารมีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในระดับที่สูงกว่า อีกทั้งยังคาดว่าฐานะเงินกองทุนของ KTB น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ด้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ ในขณะที่การลดลงของสินทรัพย์ในปี 2559 ช่วยส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนของ KTB ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ฟิทช์คาดการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนเงินกองทุนน่าจะชะลอตัวลงในปี 2560 เนื่องจากธนาคารน่าจะมีการเติบโตของสินทรัพย์ อย่างไรก็ตามโดยรวมฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของ KTB ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากนักและน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับธนาคารพาณิชย์อื่นที่มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกัน อย่างไรก็ตามคุณภาพสินทรัพย์และอัตรากำไรของธนาคารยังคงมีโอกาสที่จะปรับตัวด้อยลง

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่ง สะท้อนถึงการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย โดยธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากมากกว่า 14% ของระบบธนาคารพาณิชย์

อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ KTB ที่ ‘BBB’ อยู่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์อีก 3 แห่ง 1 อันดับ เนื่องจาก KTB ไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศเท่านั้น แต่ KTB ยังมีความสำคัญในเชิงกลยุทย์ต่อรัฐบาลไทย โดย KTB เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ทั้งยังมีความใกล้ชิดในการดำเนินงานกับกระทรวงการคลังและธนาคารยังใช้สัญลักษณ์ทางการค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสัญลักษณ์ของกระทรวงการคลัง

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ที่ไม่เข้าเกณฑ์บาเซล 3) ของ BBL SCB และ KTB มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว หรือ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับ เพื่อสะท้อนสถานะด้อยสิทธิตามโครงสร้างเงินทุนเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ KBANK ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับเพื่อสะท้อนถึงการรองรับผลขาดทุนในลักษณะการตัดเป็นหนี้สูญบางส่วนได้ (partial write-down) และความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิเนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ของ KTB ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับ ทั้งนี้แนวทางในการพิจารณาอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวฟิทช์ใช้อันดับเครดิตสากลกสุลเงินต่างประเทศที่สะท้อนถึงโอกาสที่ KTB จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ (support driven) เป็นอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง (anchor rating) ในการจัดอันดับแทนที่จะใช้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร เนื่องจากฟิทช์มองว่าภาครัฐน่าจะให้การช่วยเหลือเพื่อป้องกันมิให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability) ในขณะที่อันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวที่อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิงอยู่ 1 อันดับ สะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิ การรองรับผลขาดทุนในลักษณะการตัดเป็นหนี้สูญบางส่วนได้และการไม่มีคุณสมบัติที่สามารถรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินงาน (going-concern)

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL KBank และ SCB จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของระดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ซึ่งอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำนั้นสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ต่อความสามารถของภาครัฐในการให้การสนับสนุนและโอกาสที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

อันดับเครดิตภายในประเทศของ บล.กสิกรไทย และ บล.ไทยพาณิชย์ จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารแม่ อีกทั้งยังอาจได้รับผละกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมุมมองของฟิทช์เกี่ยวกับโอกาสในการที่ KBank และ SCB จะให้การสนับสนุนกับบริษัทลูก เช่น หากมีการลดการถือหุ้นในบริษัทลูกอย่างมากหรือมีการลดของระดับความใกล้ชิดหรือความเชื่อมโยงในด้านการตลาดและการบริหารงาน อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต โอกาสที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL KBANK และ SCB จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับถือว่าค่อนข้างจำกัด เนื่องจากอันดับเครดิตของธนาคารทั้ง 3 แห่งอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และยังมีสัดส่วนเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในระดับสูง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยน่าจะส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL KANK และ SCB ถูกปรับลดอันดับเช่นกัน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากธนาคารมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุน และสามารถยกระดับอัตราส่วนทางการเงินให้มาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อื่น อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของธนาคารมีการปรับตัวด้อยลงบ้าง โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์

สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่ง การปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องของคุณภาพสินทรัพย์หรืออัตรากำไร (ในระดับที่มากกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์) โดยไม่สามารถรักษาความสามารถในการรองรับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เพียงพอได้ ในด้านของรายได้ ระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญและฐานะเงินกองทุน อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน นอกจากนี้การปรับตัวแย่ลงของสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานในระดับที่จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในด้านการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินถูกปรับลดอันดับ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การคาดการณ์ในกรณีพื้นฐาน (base case scenario) ของฟิทช์ ซึ่งฟิทช์คาดว่าสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานน่าจะเริ่มมีสัญญาณปรับตัวมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงหลังของปี 2560

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ การเปลี่ยนแปลงในความสามารถของรัฐบาลในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารพาณิชย์ เช่น การที่อันดับเครดิตของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับลง อาจส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ KTB และอาจส่งผลให้มีการประเมินอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ BBL KBank และ SCB ใหม่เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงในมุมมองของฟิทช์ต่อแนวโน้มที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่ง ตัวอย่างเช่นหากรัฐบาลมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อจำกัดอำนาจของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิและตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งทั้ง 4 ธนาคาร จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตอ้างอิงของตราสารนั้นๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ