นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ กรรมการ และกรรมการบริหาร บมจ.วินเทจ วิศวกรรม (VTE) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานปีนี้จะมีรายได้และกำไรทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 1.67 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 49.78 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่มีกว่า 3 พันล้านบาท จะรับรู้รายได้ทั้งหมดภายในปีนี้ ทำให้คาดว่าแนวโน้มรายได้ของบริษัทในปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือแตะที่ 3 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกอาจชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงของการลงทุน ทำให้มีค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าที่ปรึกษาด้านบัญชีและภาษี ค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย และทางด้านเทคนิคเกิดขึ้น เพื่อเป็นการปิดความเสี่ยงของการลงทุน แต่เชื่อว่าภาพรวมธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจะรับรู้รายได้จากโครงการรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในประเทศเมียนมา ผนวกกับงานธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในไทยที่เฉลี่ยราว 600 ล้านบาท/ปี และงานที่เหลืออยู่จากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานในปีนี้
สำหรับงานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในเมียนมา ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวทยอยรับรู้รายได้ใน 4 ปีข้างหน้า หรือเฉลี่ยปีละ 2.5 พันล้านบาท อีกทั้งบริษัทได้ร่วมถือหุ้นในโครงการดังกล่าวในสัดส่วน 12% โดยบริษัทนับเป็นผู้รับเหมาของไทยเจ้าแรกที่ได้มีโอกาสเข้าไปก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มในเมียนมา ที่เพิ่งเปิดให้ใบนอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โรงไฟฟ้า 9 ใบ โดยบริษัทได้ร่วมกับ China Triumph International Engineering Company Limited (CTIEC) ซึ่งถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน รับเหมาโครงการดังกล่าว นายศุภศิษฏ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดเตรียมโครงสร้างทางการเงิน เพื่อรองรับแผนขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายแหล่งที่มาของรายได้ประจำ ลดความเสี่ยงการพึ่งพารายได้จากงานรับเหมาภายในประเทศ โดยในช่วงก่อนหน้านี้ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาท เพื่อรองรับแผนขยายธุรกิจ ขณะเดียวกันยังอนุมัติการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไปหรือ General Mandate เรียบร้อยแล้ว ทำให้การระดมทุนมีความคล่องตัว
นอกจากนี้ บริษัทจะมีกระแสเงินสดเข้ามาจากการขายโซลาร์ฟาร์มคาโงะชิมา (Kagoshima) ขนาดกำลังการผลิต 1.172 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นอิงะ (Iga) ขนาดกำลังการผลิต 980 กิโลวัตต์ ในประเทศญี่ปุ่น มูลค่าประมาณ 267.45 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนในโครงการอื่น ๆ ที่มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ในตัวเลข 2 หลัก โดยปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะทรัพย์สิน (Due Diligence) และวางมัดจำโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว 3-4 โครงการ กำลังการผลิตมากกว่า 10 เมกะวัตต์