นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) เปิดเผยว่า ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งแบงก์และนอนแบงก์ ต่างทยอยขายหนี้ด้อยคุณภาพออกมา เป็นโอกาสให้ JMT เข้าประมูลซื้อหนี้เพื่อสร้างฐานรายได้ต่อไปในอนาคต โดยในช่วงโค้งแรกของปีนี้ซื้อหนี้เข้ามาบริหารแล้วประมาณ 7 พันล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีนี้จะซื้อหนี้เข้ามาบริหารไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ขณะที่สิ้นปี 59 บริษัทมีพอร์ตบริหารหนี้แตะ 1.1 แสนล้านบาทแล้ว มั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บหนี้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ สนับสนุน ผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรเติบโตอย่างโดดเด่น พร้อมวางเป้าหมายการเติบโตปี 60 อยู่ที่ 30% จากปีก่อน
นอกจากนี้ การที่บริษัทได้จัดตั้งบริษัท บริษัท เจเอ็มที (กัมพูชา) จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจรับจ้างติดตามหนี้ และ Call Center คาดจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ นับเป็นก้าวแรกของการรุกตลาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง คาดสนับสนุนให้ JMT แข็งแกร่งในระยะยาวได้
สำหรับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/60 มีรายได้รวมอยู่ที่ 272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 581% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 15 ล้านบาท เนื่องจาก บริษัทไม่ต้องจัดทำงบการเงินรวมกับบริษัท เจ ฟินเทค จำกัด (J Fintech) แล้ว และพร้อมรุกธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพเต็มกำลัง
สาเหตุสำคัญในการเติบโตครั้งนี้ มาจากการประสบความสำเร็จในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัท มีสัดส่วนราว 77% ของรายได้รวม จากการเดินหน้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่มอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และสามารถจัดเก็บหนี้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนรายได้จากธุรกิจเร่งรัดติดตามหนี้มีสัดส่วน 22% รายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจปล่อยสินเชื่อ 1% นับเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจติดตามเร่งรัดหนี้และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพระดับแนวหน้าของประเทศไทย ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามาอย่างยาวนาน มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
“JMT พลิกกลับมาเป็นกำไร และสามารถเติบโตอย่างโดดเด่น 581% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/59 ที่มีผลขาดทุน สาเหตุหลักเนื่องจากความสำเร็จในธุรกิจบริหารหนี้ และในงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่บริษัทลงทุนในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล J Fintech เดิมเป็นบริษัทย่อยของ JMT ชื่อบริษัท เจเอ็มที พลัส จำกัด ซึ่งปัจจุบัน บริษัทลดสัดส่วนเงินลงทุนใน J Fintech ลงเหลือประมาณ 9.1% ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ทำให้มีสภาพคล่องที่ดีขึ้น เพิ่มกำลังความพร้อมในการประมูลซื้อหนี้เข้ามา จึงมั่นใจในช่วงต่อจากนี้ จะเป็นอีกปีที่น่าจับตามองของ JMT"นายปิยะ กล่าว