นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) คาดยอดขายปีนี้ประมาณ 1.3-1.5 ล้านตัน เทียบกับปีก่อนที่มียอดขาย 1.5 ล้านตัน และต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.7 ล้านตัน พร้อมกันนั้นอาจจะมีทบทวนประมาณการยอดขายปี 61 ที่ตั้งไว้ 2 ล้านตัน เนื่องจากราคายางในตลาดโลกตั้งแต่ต้นปีมีราคาผันผวนมาก ทำให้คาดการณ์ปริมาณขายและราคายางได้ลำบาก แต่ขณะนี้คาดว่าราคายางไม่น่าจะต่ำกว่าปีก่อนที่มีราคาเฉลี่ย 1,500 เหรียญ/ตัน
ดังนั้น ขณะนี้บริษัทจึงยังไม่สามารถประมาณการรายได้ในปีนี้ได้ เพราะจะต้องขึ้นกับราคายางในตลาดโลก ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างอิงตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในเซี่ยงไฮ้ เพราะจีนเป็นผู้บริโภคหลัก
"ราคาไม่น่าจะต่ำกว่าปีที่แล้ว ทั้งนี้น่าจะเห็นได้ชัดต้องรอจบไตรมาส 2 ในช่วง 5 ปีวอลุ่ม (ยอดขาย) เราโต 6-7% แต่ราคาลดลง 20-30% วอลุ่มโตชดเชยไม่ทันราคายางที่ปรับตัวลงมา"นายวีรสิทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าอัตรากำไรสุทธิปีนี้จะอยู่ประมาณ 1-3% พลิกจากปีก่อนที่มีอัตราติดลบและมีผลขาดทุนจากรายการพิเศษเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานในอินโดนีเซียที่เกิดความเสียหาย ซึ่งขณะนี้ยังรอประเมินความเสียหายกับบริษัทประกัน รวมทั้งในปีก่อนมีค่าใช้จ่ายการขายสูงขึ้นจากราคายางที่ปรับตัวขึ้นเร็ว ทั้งนี้ บริษัทคงนโยบายทำประกันความเสี่ยงราคายางไว้ไม่เกิน 30%
สำหรับแผนดำเนินงานในปีนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ โดยฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัท เพื่อสนับสนุนกระบวนการผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ขยายฐานลูกค้าในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 2.9 ล้านตันภายในปลายปีนี้ จากปีก่อนอยู่ที่ 2.4 ล้านตัน โดยตั้งงบลงทุนราว 1-2 พันล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตของ 2 โรงงาน คือ โรงงานใน จ.สกลนคร ที่มีกำลังผลิตยางแท่ง 7.2 พันตัน/เดือน และโรงงานในอินโดนีเซีย ที่มีกำลังการผลิต 5 พันตัน/เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/61
นายวีรสิทธิ์ เปิดเผยอีกว่า บริษัทตั้งเป้าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจะมีส่วนแบ่งการตลาดอุตสาหกรรมยางธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากปีก่อนที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 12% โดยจะยังคงรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโลกทั้งในธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำในการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ด้วย
ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่าความต้องการยางในตลาดโลกในช่วง 3 ปีนี้จะเติบโตเฉลี่ย 3-4% ต่อปี จากปี 59 ที่มีความต้องการ 12.5 ล้านตัน ซึ่ง STA นับเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่อันดับ 1 ของตลาดโลก และสินค้าถุงยางทางการแพทย์ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของตลาดโลก ปัจจุบันบริษัทสัดส่วนสินค้ากลางน้ำ ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น รวมประมาณ 90% ของยอดขาย และอีก 10% เป็นสินค้าขั้นปลายคือถุงมือยางทางการแพทย์
ขณะที่การผลิตถุงมือยางภายใต้บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) นั้น คาดว่าจะมีการเติบโตที่ดีเช่นกัน เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งบริษัทมีแผนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพมากยิ่ง เพิ่มกำลังการผลิตจากเดิม 14,000 ล้านชิ้น และทยอยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดต่อไปในอนาคต