หุ้น PTG ร่วงลง 11% มาอยู่ที่ 18.60 บาท ลดลง 2.30 บาท มูลค่าซื้อขาย 485.24 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.53 น. โดยเปิดตลาดที่ 20.20 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 20.30 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 18.20 บาท
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/60 ด้วยกำไรสุทธิ 181 ล้านบาท ลดลง 38.8% YoY และ ลดลง 40.9% QoQ ผลประกอบการออกมาอ่อนแอกว่าที่เราคาด 14.2%
สาเหตุหลักที่ทำให้กำไรปรับตัวลดลง YoY และ QoQ มาจากกำไรขั้นต้นต่อลิตรที่ลดลง 14.4% YoY และ 13.2% QoQ และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้น 21.1% YoY และ 2.7% QoQ จากการขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขายน้ำมันในไตรมาส 1/60 นี้ยังออกมา in line กับที่เราคาดการณ์ที่ 821 ล้านลิตร
ทั้งนี้ บล.กสิกรไทย อยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการ แต่กำไรสุทธิไตรมาส 1 คิดเป็นเพียง 12.8% ของประมาณการรวมทั้งปีของเรา โดยยังคงแนะ"ซื้อ"ให้ราคาพื้นฐาน 31 บาท
ขณะที่ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ปรับราคาเหมาะสมหุ้น PTG ลงเป็น 28 บาท ลดลงตามการปรับสมมติฐานค่าการตลาดลง โดยเรามองแม้แนวโน้มกำไรจะยังไม่ฟื้นตัวดีนักใน Q2/60 แต่คาดวาสค่าการตลาดจะสามารถฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ซึ่งราคาหุ้นที่ผ่านมาปรับตัวลงมากสะท้อนค่าการตลาดทำให้ upside สูงขึ้นมาก จึงยังคงคำแนะ"ซื้อ"สำหรับ PTG
PTG รายงานกำไรสุทธิใน Q1/60 อ่อนตัวลงและต่ำกว่าที่เราคาดการณ์ไว้มาก เนื่องจากค่าการตลาดที่อ่อนตัวลงต่อเนื่องและคาดว่าแย่กว่าอุตสาหกรรม กดดันให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจาก 9.7% ใน Q1/59 เป็น 6.6% ต่ำที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส แม้ปริมาณขายจะเติบโตมากกว่า 22.4% อยู่ที่ 821 ล้านลิตร แต่ไม่สามารถชดเชยการอ่อนตัวของค่าการตลาดได้ ประกอบกับการขยายสาขาแบบก้าวกระโดด ทำให้ค่าใช้จ่ายคงที่โดยรวมสูงขึ้น กดดันผลประกอบการใน Q1/60 ลดลง YoY เป็นไตรมาสแรกในรอบ 5 ไตรมาสที่ผ่านมา
เราคาดแนวโน้มการฟื้นตัวของค่าการตลาดจะยังไม่เกิดขึ้นใน Q2/60 โดยจากข้อมูล QTD ต้นเม.ย.-พ.ค.พบว่าค่าการตลาดโดยรวมยังอ่อนตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรก เป็นผลของการงดเว้นเทศกาลรื่นเริงในช่วงสงกรานต์และความผันผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งจะกดดันต่อแนวโน้มผลประกอบการ Q2/60 เนื่องจากการขยายสาขาอย่างรวดเร็วทำให้จุด breakeven ของค่าการตลาดต่อกำไรสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าการตลาดที่เปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อกำไรของ PTG เป็นอย่างมาก โดยคาดจุด breakeven ของ PTG ปัจจุบันอยู่ที่ 1.60 บาท/ลิตร เทียบกับ 1.30 บาท/ลิตร และ 1.40 บาท/ลิตรในปี 57 และปี 58 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเรามองแนวโน้มค่าการตลาดจะกลับไปยืนในระดับสูงดังเดิมได้ใน H2/60 ซึ่งจะหนุนให้กำไรฟื้นตัวขึ้นได้
ถึงแม้เราจะมองแนวโน้มอุตสาหกรรมสถานีบริการน้ำมันดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี แต่ด้วยค่าการตลาดต่ำใน H1/60 และข้อจำกัดการปรับราคาน้ำมัน จึงปรับประมาณการกำไรของปีนี้และปีหน้าลง 24% และ 12% มาที่ 834 ล้านบาท (-24.3% YoY) และ 1,158 ล้านบาท (+38.9% YoY) ตามลำดับ เป็นผลมาจากการปรับสมมติฐานค่าการตลาดปีนี้จาก 1.85 บาท/ลิตร เป็น 1.75 บาท/ลิตร (จากคาด H1/60 อยู่ที่ 1.70 บาท/ลิตร และ H2/60 ที่ 1.80 บาทต่อลิตร) และปีหน้า 1.80 บาท/ลิตร โดยทุกๆการเปลี่ยนแปลงของค่าการตลาด 0.05 บาท/ลิตรจะส่งผลต่อกำไรราว 140 ล้านบาท