นางปิยะนุช รังคสิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น (TWZ) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเริ่มจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 5 เมกะวัตต์ ผ่านบริษัท มาสเทค ทูล แอนด์ เซอร์วิส จำกัด หรือมาสเทค (MASTECH) และได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปลายปี 59 ที่ผ่านมา ทำให้ บริษัทฯ มีประสบการณ์และความมั่นใจที่จะขยายธุรกิจด้านนี้ โดยได้เข้าทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหลายบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติให้เข้าจับสลากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 ซึ่งกำหนดวันจับสลากคัดเลือกในวันที่ 26 มิ.ย. และจะประกาศผลวันที่ 28 มิ.ย.นี้
“การจับสลากรอบนี้เป็นโครงการในส่วนของหน่วยงานราชการไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และส่วนของสหกรณ์ภาคการเกษตรอีก 119 เมกะวัตต์ ซึ่งจากการพิจารณารายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ พื้นที่ตั้งโครงการ และจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้าแล้ว เรามั่นใจว่าโอกาสที่พันธมิตรของเราจะได้โครงการรอบสองนี้ไม่น่าจะน้อยกว่า 5 โครงการๆ ละ 5 เมกะวัตต์ รวมเป็น 25 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับที่เรามีอยู่แล้ว 5 เมกะวัตต์ ก็จะทำให้เรามีโครงการโซลาร์ฟาร์มรวม 30 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายที่วางไว้" นางปิยะนุช กล่าว
ประธานกรรมการบริหาร TWZ กล่าวด้วยว่า การรับรู้รายได้เชิงพาณิชย์จากการขายไฟฟ้า จำนวน 5 เมกะวัตต์ สร้างรายได้ประมาณปีละ 40 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเฉลี่ยเกือบ 20 ล้านบาทต่อปี หากได้ 30 เมกะวัตต์ คิดเป็นรายได้ประมาณ 240 ล้านบาทต่อปี เป็นกำไรสุทธิเกือบ 120 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลานานถึง 25 ปี ซึ่งจะเป็นรายได้และกำไรที่สร้างความมั่นคงให้กับบริษัทในระยะยาว โดยบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายระยะ 3 ปีนี้ว่าจะพยายามทำโครงการไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้มีกำไรเฉลี่ย 350-400 ล้านบาทต่อปี
สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ TWZ ซึ่งได้ลงทุนโครงการเดอะเพเซอร์ พัทยา มูลค่าโครงการ 500 ล้านบาท ขณะนี้มียอดจองแล้วประมาณ 40% หรือประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งจะมีการโอนและรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้ เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.60 โดยมีอัตรากำไรประมาณ 20%
ด้านธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งยังคงเป็นธุรกิจหลักของ TWZ นั้น บริษัทฯ ยังเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และมั่นใจว่าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ผู้ให้บริการเครือข่ายต่างๆ จะไม่ได้นำสมาร์ทโฟนของตนเองมาใช้สนับสนุนการขายมากมายเหมือนในช่วงที่ผ่านๆ มา ดังนั้นโอกาสการขายของ TWZ จึงมีมากขึ้น ทั้งการขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ขายผ่านตัวแทนจำหน่าย และขายจำนวนมากๆ ให้กับโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ รวมไปถึงการเป็นผู้วางระบบและบริหารจัดการโครงข่ายไฟเบอร์ออพติค ซึ่งจะทำให้รายได้และกำไรในสายธุรกิจนี้เติบโตมากขึ้น
นางปิยะนุช กล่าวด้วยว่า อีกสายธุรกิจหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบในการลงทุน ก็คือธุรกิจร้านขายของชำแนวใหม่ ที่จะสามารถสร้างรายได้ทั้งจากการขายสินค้าและบริการเติมเงินชำระเงินต่างๆ ซึ่งมีโอกาสการเติบโตที่สูงมาก
“การจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่เป็น 4 สายธุรกิจดังกล่าวข้างต้น จะทำให้ TWZ เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง มั่นคง และกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งได้เป็นอย่างดี" ประธานกรรมการบริหาร TWZ กล่าว