บมจ.การบินไทย (THAI) และบริษัทย่อย ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/60 มีกำไรสุทธิ 3,157 ล้านบาท ลดลง 47.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นกำไรจากการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Operating Profit) จำนวน 2,867 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 60.1% สาเหตุหลักมาจากค่าน้ำมันเครื่องบินที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่สูงกว่าปีก่อนถึง 45.8% ประกอบกับรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย ต่ำกว่าปีก่อน 12.0% จากการแข่งขันที่รุนแรงและการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมัน (Fuel Surcharge)
ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร เพิ่มขึ้น 11.6% และมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) 82.8% สูงกว่าปีก่อน 5.3% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินที่ 80.1% อย่างไรก็ตาม มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวมจำนวน 483 ล้านบาท และรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 1,017 ล้านบาท แต่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจำนวน 1,560 ล้านบาท
นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ THAI เปิดเผยว่า ในปี 2560 บริษัทได้เข้าสู่ระยะที่ 3 ของแผนปฏิรูปองค์กรคือ “การเติบโตอย่างยั่งยืน" โดยมีกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 6 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) พัฒนาเครือข่ายการบินที่แข่งขันได้ ทำกำไรและลดความซับซ้อนของฝูงบิน 2) เพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันและเสริมสร้างรายได้ 3) สร้างความเป็นเลิศในการให้บริการ (Service Ring) 4) มีต้นทุนที่แข่งขันได้และการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ 5) สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนความยั่งยืน และพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพดีเยี่ยม 6) บริหารบริษัทในเครือและกลุ่มธุรกิจ และพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจใหม่เพื่อความยั่งยืน
โดยไตรมาสนี้มีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น การยกเลิกทำการบิน ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองของสายการบินไทยสมายล์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 โดยใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นฐานการบินเพียงแห่งเดียว ซึ่งเป็นหนึ่งในการปรับแผนยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการขยายตัวเปิดตลาดการบินใหม่ ๆ ในต่างประเทศ เริ่มดำเนินการโครงการติดตั้ง Crew Rest และอุปกรณ์ In-flight Connectivity บนเครื่องบินโบอิ้ง 787-8 จำนวน 6 ลำ
นอกจากนี้ ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา กับบริษัท แอร์บัส อินดัสตรี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 และลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานระยะที่ 1 และการพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ระยะที่ 1 กับกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการดำเนินการปรับปรุงแผนฝูงบินและเส้นทางบิน บริษัทมีการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้บริษัทและบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 4.4% โดยมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นถึง 11.6% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร เฉลี่ย 82.8% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.5% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินที่ 80.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6.52 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 10.1%
โดยผลการดำเนินงานของบริษัท และบริษัทย่อยในไตรมาส 1/60 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 49,804 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยประมาณ 0.8% สาเหตุสำคัญเนื่องจากรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินลดลงจากการปรับอัตราค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันลดลง และการแข่งขันที่รุนแรง ถึงแม้ว่าจะมีรายได้จากค่าระวางขนส่งและค่าไปรษณียภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน
สำหรับค่าใช้จ่ายรวม 46,937 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 9.1% เนื่องจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 2,002 ล้านบาท หรือ 18.5% จากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นถึง 45.8% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น 2,041 ล้านบาท หรือ 6.6% สาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มขึ้น
บริษัท และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวมจำนวน 483 ล้านบาท และรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 1,017 ล้านบาท แต่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1,560 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัท และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 3,157 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 47.3%