โบรกเกอร์ ต่างเชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) แม้ผลประกอบการงวดไตรมาส 1/60 และปี 60 จะยังไม่น่าประทับใจ แต่ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend yield) สูงกว่า 5% และคาดผลประกอบการจะกลับมาโตสูงในปี 61 จึงทำให้หุ้น SC มีความน่าสนใจเข้าซื้อ โดยเฉพาะเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัวลง
ทั้งนี้ SC มียอดขายรอโอน (Backlog) ณ สิ้นปี 59 ที่ 6,025 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ในปี 60-63 ขณะที่การเปิดตัวโครงการในทำเลใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากในปีนี้จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทั้งยอดขายและกำไรรายไตรมาสในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปีนี้คาดว่า SC จะมีกำไรสุทธิอยู่ในช่วง 1,800-1,895 ล้านบาท ลดลงจากระดับกำไรสุทธิ 1,968 ล้านบาทในปีที่แล้ว แต่กำไรจะปรับตัวสูงขึ้นมากในปี 61 ซึ่งคาดว่าจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 21-32.7% จากปี 60 เป็นผลจากการโอนคอนโดมิเนียมมากขึ้น และปีหน้ายังให้ Dvidend yield สูงอีกด้วย
ราคาหุ้น SC พักเที่ยงอยู่ที่ 3.20 บาท ลดลง 0.10 บาท (-3.03%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยลดลง 0.46%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 4.08 ซีไอเอ็มบีฯ ซื้อ 4.02 ไอร่า ซื้อ 3.80 กสิกรไทย ซื้อ 3.90 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 3.88 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดีบีเอสฯ แนะ"ซื้อ"หุ้น SC ให้ราคาเป้าหมาย 4.08 บาท/หุ้น คิดเป็น P/E 9 เท่า แม้ว่าผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 1/60 จะออกมาแย่สุดของปี และแม้ว่ากำไรปีนี้จะไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ถือว่าเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง โดยปีนี้คาดว่าจะมี Dividend yield สูงถึง 5.4% ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ SC ในปีนี้ไม่ค่อยดีนัก โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 1,895 ล้านบาท ลดลง 4% จากปี 59 แต่กำไรจะปรับตัวสูงขึ้นมากในปี 61 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 2,293 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% อันเป็นผลจากมีการโอนคอนโดมิเนียมจำนวนมาก และปีหน้าก็จะยังให้ Dividend yield สูงถึง 6.5% อีกด้วย ด้าน บล.ไอร่า ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อ"หุ้น SC แม้ว่าคาดผลประกอบการปี 60 จะอ่อนตัว แต่ด้วยการคาดการณ์อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ 5% ในปี 60 และผลประกอบการที่มีแนวโน้มกลับมาเติบโตสูงในปี 61 ส่วน บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุว่า SC เป็นหุ้นยั่งยืน ให้เงินปันผลดีและมีอนาคต โดย SC มี Backlog ณ สิ้นปี 59 อยู่ที่ 6,025 ล้านบาท และคาดว่าจะรับรู้รายได้ในปี 60-63 โดยคาดอัตราเงินปันผลสูงกว่า 5% เทียบกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เฉลี่ย 4.1-4.8% ช่วงปี 60-62 ทั้งนี้ ผู้บริหาร SC ตั้งเป้ารายได้ 14,800 ล้านบาทในปี 60 และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 20,000 ล้านบาทภายในปี 62 นอกจากนี้มีแผนเปิดตัวใหม่ 17 โครงการ และอาคารสำนักงานอีกหนึ่งแห่งโดยมียอดผู้เช่าเต็ม 100% แล้ว บล.กสิกรไทย เห็นว่ากำไรไตรมาส 1/60 ของ SC คาดจะเป็นจุดที่ต่ำที่สุดของปี ขณะที่การเปิดตัวโครงการใหม่ในทำเลใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นมากในปีนี้จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทั้งยอดขายและกำไรรายไตรมาสในปีนี้ให้มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้หากพิจารณาจากการเติบโตในปี 61 ที่คาดจะเพิ่มขึ้นถึง 32.7% จะทำให้ SC กลับมาเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก backlog ที่จะรับรู้ในปีหน้าที่มากกว่าปีนี้ รวมถึงฐานรายได้โครงการแนวราบที่เพิ่มขึ้นที่คาดจะมีความต่อเนื่อง สำหรับ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ปรับคำแนะนำขึ้นเป็น"ซื้อ"หุ้น SC เพื่อรับการเติบโตที่แข็งแกร่งในปี 61 โดยคงราคาเป้าหมายพื้นฐานปีนี้ที่ 3.88 บาท มองว่าราคาหุ้นที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาจนมาซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีอีกครั้ง (FY60 P/B 0.89x) และอัตราเงินปันผลเพิ่มเป็น 5.8% ได้สะท้อนผลประกอบการที่อ่อนแอไปแล้ว แนวโน้มปี 60 ยังคาดการณ์กำไรไว้ระดับเดิม 1,800 ล้านบาท ลดลง 9% จากปีก่อน โดยเชื่อว่าทิศทางการโอนแนวราบจะดีขึ้นต่อเนื่องทุกไตรมาส เพราะ SC มีแผนเปิดเพิ่มขึ้นอีกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อยู่ในทำเลดีและมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเติม ขณะที่จะมีคอนโดมิเนียมใหม่สร้างเสร็จเพิ่มอีกในไตรมาส 4/60 คือ Chambers Cher รัชดา-รามอินทรา อย่างไรก็ดี ด้วยมี Backlog สำหรับปีนี้เพียง 2,100 ล้านบาท คิดเป็น % Secured revenue เพียง 28% ทำให้ยอดโอนอาจมี Downside อยู่บ้างจากประมาณการที่ 13,000 ล้านบาท ลดลง 5% จากปีก่อน แต่ผลการดำเนินงานของ SC จะกลับมาเติบโตแข็งแกร่งในปี 61 ยังคงมุมมองเป็นบวกต่อทิศทางในปีหน้า เพราะคาดกำไรกลับมาเติบโตแข็งแกร่ง จากการมี 2 คอนโดมิเนียมสร้างเสร็จ มูลค่ารวม 8,700 ล้านบาท และมี Backlog แล้ว 2,800 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายแนวราบเติบโตต่อเนื่อง ตามการเปิดโครงการใหม่ที่มากขึ้น ตลอดจนรับรู้รายได้ค่าเช่า SC Tower เต็มปี ซึ่งปัจจุบันมีผู้เช่าจองเต็มทั้ง 100% รวมถึงตัวเลขอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ดีขึ้น และเกิดการประหยัดต่อขนาด ทำให้อัตรากำไรสุทธิ (NPM) ดีขึ้นด้วย