นางอิซาเบล โคแชร์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท เอ็นจี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) เปิดเผยว่า กลุ่มเอ็นจีอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในเมียนมา โดยมองโอกาสการเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการพัฒนาการสร้างเขื่อนและผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ เบื้องต้นคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ ซึ่งหากทางกลุ่มบริษัท เอ็นจี สรุปผลการศึกษาและตัดสินใจลงทุนอย่างแน่นอนแล้วจะมอบหมายให้ GLOW เข้าไปดำเนินโครงการ
สำหรับการลงทุนในประเทศไทยผ่าน GLOW ที่กลุ่มเอ็นจีถือหุ้นในสัดส่วน 69.11% ล่าสุดได้มีโครงการพัฒนาโรงงานแปรรูปของเสียในชุมชนให้เป็นพลังงานทดแทนสำหรับอนาคต (Waste-to-Energy) คือ โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมขนาด 9 เมกะวัตต์ใน จ.ชลบุรี มูลค่า 1.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นความร่วมมือของพันธมิตร 3 ราย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 62
ส่วนพลังงานทดแทนประเภทอื่นในประเทศไทยที่จะเป็นการลงทุนผ่าน GLOW จะเข้าไปร่วมการคัดเลือกของโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์การเกษตร จำนวน 119 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการ จำนวน 100 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีความสนใจยื่นจับฉลากในส่วนของโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์การเกษตร ซึ่งยังไม่สามารถคาดหวังจำนวนโครงการและจำนวนกำลังการผลิตที่แน่นอนได้ เพราะขึ้นอยู่กับการจับฉลาก ส่วนพื้นที่ที่มองว่ามีศักยภาพที่สนใจจะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีการพัฒนาเรื่องสายส่งและมีจำนวนโครงการที่เปิดจับฉลากจำนวนมาก
"กลุ่มเอ็นจีมองเห็นโอกาสที่บริษัทจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศไทย ทั้งด้านการเติบโตทางธุรกิจไปพร้อมๆก่บการพัฒนาอย่างยั่งยืน และรักษาสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน หากมีโครงการด้านพลังงานทดแทนที่หล่วยงานภาครัฐของไทยเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้ามาพัฒนา ทางกลุ่มเอ็นจีก็มีความสนใจในการเจ้าประมูลในทุกๆโครงการที่เปิด เพราะเรามองเห็นโอกาสการขยายธุรกิจไปพร้อมๆกับการเติบโตของพลังงานทดแทน"นางอิซาเบล กล่าว
นางโคแชร์ กล่าวอีกว่า กลุ่มเอ็นจีตั้งงบลงทุนในช่วงปี 59-61 มูลค่า 1.6 หมื่นล้านยูโร เพื่อเดินหน้าลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนทั่วโลกต่อยอดการเติบโตของกลุ่มบริษัท ซึ่งบริษัทหันไปลงทุนด้านพลังงานทดแทนมากขึ้น เพราะกระแสของการใช้พลังงานในโลกได้เปลี่ยนไปที่ในทุกๆประเทศเน้นใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และลดการก่อปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งโลกกำลังเกิดการปฏิวัติพลังงานเกิดขึ้น
"เบื้องต้นได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 73 จะมีกำลังการผลิตพลังงานทดแทนทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงถึง 70% จากปี 58 ทำให้บริษัทเห็นถึงโอกาสที่จะเข้าลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนมากขึ้น และลดสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจพลังงานฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน เป็นต้น"นางโคแชร์ กล่าว
สำหรับทิศทางการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในเอเชียแปซิฟิค นางโคแชร์ มองว่ายังมีโอกาสค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในอาเซียนที่มีการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ ทั้งไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และเมียนมาร์ ซึ่งเป็นโอกาสของบริษัทในการขยายการลงทุน อีกทั้งบริษัทมองว่าพลังงานทดแทนเป็นพลังงานที่มีราคาถูก ทำให้คนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการใช้พลังงานได้ แต่การพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนในอาเซียนยังต้องมีการพัฒนาระบบสายส่งให้ทั่วถึง เพื่อให้ทุกคนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงพลังงานได้อย่างทั่วถึง