บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบมจ. เอสวีไอ (SVI) ที่ BBB+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ F2(tha) พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้ประกาศยกเลิกอันดับเครดิตดังกล่าว ตามแผนการพัฒนาธุรกิจของฟิทช์
ธุรกิจของ SVI ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ในช่วงปลายปี 2557 โดยบริษัทได้ฟื้นฟูกำลังผลิตให้กลับมาเท่ากับก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ในปี 2559 หากไม่รวมรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการในยุโรป รายได้ของบริษัท ในปี 2559 เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ 8.6 พันล้านบาท ฟิทช์เชื่อว่า SVI จะสามารถรักษาสถานะทางธุรกิจ และฐานะการเงินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ฟิทช์คาดว่าการเข้าซื้อกิจการบริษัท Seidel Electronics Group (Seidel) ซึ่งเป็นผู้รับประกอบแผงวงจรสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Manufacturing Service) ซึ่งมีโรงงานผลิตในประเทศออสเตรีย สโลวาเกีย และฮังการี ในปี 2559 จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีกำไรสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ รถยนต์ ระบบขนส่ง และการแพทย์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ Seidel ผลิตอยู่ นอกจากนี้การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวยังช่วยลดการพึ่งพารายได้จากลูกค้าในกลุ่มประเทศ Scandinavia และเพิ่มลูกค้าในภูมิภาคยุโรป โดยในปี 2559 สัดส่วนรายได้จากลูกค้าในกลุ่มประเทศ Scandinavia มีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 52% จาก 71% ในปี 2558
ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) น่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 7% ในปี 2560 และ 2561 จาก 6.4% ในปี 2559 โดยการเข้าไปปรับปรุงกระบวนการผลิต และการจัดหาวัตถุดิบของ Seidel น่าจะช่วยปรับปรุงต้นทุนการผลิต และอัตราส่วนกำไร ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในปี 2559 การรวมผลประกอบการจาก Seidel ได้ทำให้ EBITDAR Margin ของ SVI ปรับตัวลดลง เนื่องจากอัตราส่วนกำไรของ Seidel อยู่ในระดับต่ำกว่าของ SVI เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่สูงกว่า
ฟิทช์คาดว่า SVI น่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.0 เท่าได้ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (Funds Flow from Operations) ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ประมาณ 700-900 ล้านบาทต่อปี น่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนจำนวน 400-600 ล้านบาท ต่อปี และเงินปันผล ในช่วงปี 2560 และ 2561 นอกจากนี้บริษัทยังมีเงินสดมากกว่าหนี้สินจำนวน 3.2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2559
สำหรับโอกาสเติบโตในธุรกิจ EMS นั้น SVI ยังคงได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตในระยะยาวของตลาดรับประกอบแผงวงจรสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนแนวโน้มที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้นแบบจะว่าจ้างผู้รับประกอบแผงวงจรสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ผลิตแทนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (Consumer Electronic) บริษัทเน้นการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ระดับบนประเภท non-traditional ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี มีความผันผวนจากความต้องการที่ต่ำกว่า และมีอัตราส่วนกำไรจากการผลิตที่สูงกว่า ซึ่งส่งผลให้บริษัทสามารถรักษาผลการเนินงาน และสถานะทางธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าสภาวะอุตสาหกรรมจะมีความท้าทาย
ปัจจัยเสี่ยงของ SVI ประกอบด้วยการที่บริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่กระจุกตัว แนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจรับประกอบแผงวงจรสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภท Non-traditional และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ SVI ยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจส่งผลให้บริษัทรับรู้รายได้ในรูปสกุลเงินบาทลดลง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงดังกล่าวได้ถูกลดทอนบางส่วนจากการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า
สถานะทางธุรกิจของ SVI ได้รับการสนับสนุนจากกลยุทธ์ของบริษัทที่เน้นการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ระดับบนประเภท non-traditional ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี มีความผันผวนจากความต้องการที่ต่ำกว่าการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภท Traditional อย่างไรก็ตามบริษัทดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าความเสี่ยงของอุตสาหกรรมอื่นๆโดยรวม SVI ดำเนินงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกับบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE (A-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) โดยบริษัททั้งสองเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มในอุตสาหกรรมที่ตนดำเนินงานอยู่ ซึ่งมีการแข่งขัน และความผันผวนของความต้องการ ที่ต่ำกว่า ทำให้บริษัทมีรายได้และกำไรที่ค่อนข้างมั่นคง อย่างไรก็ตาม SVI มีอัตราส่วนกำไรที่ต่ำกว่า และมีขนาดเล็กกว่า KCE ทั้งในด้านรายได้และกำไร ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ SVI มีอันดับเครดิตต่ำกว่า KCE หนึ่งระดับ
ทั้งนี้ สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้ในปี 2560 และ 2561 ปรับตัวเพิ่ม 15%-20% ต่อปี
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR Margin) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 7% ในปี 2560 และ 2561 (2559: 6.4%)
- เงินลงทุนจำนวน 600 ล้านบาทในปี 2560 และ 400 ล้านบาทในปี 2561
- จ่ายเงินปันผลที่ 40% ของกำไรสุทธิ
ส่วนปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตไม่มีเนื่องจากฟิทช์ได้ประกาศยกเลิกอันดับเครดิต
ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Flow from Operations) ของ SVI น่าจะเพียงพอสำหรับการลงทุน และการจ่ายเงินปันผล บริษัทสามารถรักษาระดับเงินสดที่สูงอย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นปี 2559 บริษัทมีเงินสดจำนวน 3.9 พันล้านบาท) ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดจากอุตสาหกรรมในช่วงขาลง หรือมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อกระบวนการผลิตของบริษัท ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าในระดับต่ำ จำนวน 103 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559