นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะทำได้ดีกว่าระดับ 2.7 พันล้านบาทในปีที่แล้ว แม้กำไรสุทธิในไตรมาสแรกทำได้ราว 750 ล้านบาท ลดลง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ (IRPC-CP) เฟส 1 และลูกค้าของ IRPC-CP ที่หยุดซ่อมบำรุงโรงงานด้วย แต่กำไรสุทธิในไตรมาสแรกนับว่าเป็นระดับที่ทำได้ดีกว่าคาดจากการบริหารต้นทุนได้ดี
"กำไรปีนี้ควรจะดีกว่าปีที่แล้ว ตอนแรกเรามองว่าจะ drop แต่ไตรมาสแรกก็ทำกำไรได้ดีกว่าที่คาด จากการบริหารจัดการโรงงานได้ดี"นายเติมชัย กล่าว
นายเติมชัย กล่าวอีกว่า ปีนี้ยังจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เข้าระบบในช่วงครึ่งหลังของปี ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้า IRPC-CP ระยะที่ 2 ,โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น 2 และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อิชิโนเซกิ โซลาร์ พาวเวอร์ในญี่ปุ่น รวมถึงจะรับรู้รายได้จากโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ ขนาด 5 เมกะวัตต์เต็มปีในปีนี้ด้วย
สำหรับระยะต่อไปบริษัทจะใช้กลยุทธ์ MOVE ซึ่งเป็นกลยุทธ์การเติบโตใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การเติบโตควบคู่กับกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ปัจจุบันกลุ่มปตท.มีแผนที่จะลงทุนรองรับโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งบริษัทได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดหาระบบไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว เบื้องต้นทาง ปตท.มีแผนที่จะผลิตไฟฟ้าจาพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ราว 20 เมกะวัตต์ (MW) ส่วนรายละเอียดของโครงการยังต้องรอความชัดเจนเรื่องความต้องการใช้ของลูกค้าก่อน
2.การขยายลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทยังมองหาโอกาสลงทุนในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง แม้ล่าสุดการที่กลุ่ม ปตท.มีนโยบายให้ชะลอการพิจารณาลงทุนใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย หลังเกิดกรณีฟ้องร้องบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ทำให้การพิจารณาลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพในอินโดนีเซีย 1 แห่งที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะสินทรัพย์ (due diligence) ต้องหยุดลง
นายเติมชัย ยังมองว่าอินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการลงทุนมาก หากกรณีของ PTTEP มีความชัดเจนก็พร้อมที่จะกลับไปพิจารณาศึกษาการลงทุนใหม่ อย่างไรก็ตาม บริษัทก็มองโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าในลาว และเมียนมา โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าใช้ในพื้นที่เอง โดยไม่ต้องส่งเข้าระบบ ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่ปัจจุบันทีมงานได้ศึกษาโอกาสการลงทุนดังกล่าวในเมียนมา
3.การใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อการจัดเก็บพลังงาน (energy storage) ซึ่งล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการสรุปรูปแบบการลงทุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อรองรับการกักเก็บพลังงานในการผลิตไฟฟ้า โดยอยู่ระหว่างการประเมินภาพรวมตลาดแบตเตอรี่ในภูมิภาคอาเซียน และอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรผู้ผลิตแบตเตอรี่หลายราย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการร่วมกันทำตลาด รวมถึงการทำรายละเอียดของการลงทุนเพื่อขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป
สำหรับการตั้งโรงงานจะอยู่ในประเทศไทย เบื้องต้นจะทยอยทำเป็นระยะ ซึ่งอาจจะมี 3 ระยะ โดยระยะแรกมีกำลังผลิตราว 100 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งจะใช้เงินลงทุนไม่มากนัก โดยตลาดเบื้องต้นคงเป็นการใช้เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นายเติมชัย กล่าวอีกว่า จากแผนการดำเนินงานของบริษัทที่มีอยู่ค่อนข้างมากในปัจจุบัน และการให้ความสำคัญกับ energy storage ทำให้บริษัทอาจไม่มีทรัพยากร (resource) เพียงพอที่จะลงทุนในโครงการที่อาจจะให้ผลตอบแทนไม่มากนัก ทำให้อาจจะมีข้อจำกัดในการเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ ระยะที่ 2
สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุนเกือบ 4 พันล้านบาทเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าตามแผนงานที่มีอยู่ ซึ่งมีเงินทุนเพียงพอรองรับการลงทุนดังกล่าว ส่วนการออกหุ้นกู้ หลังจากที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติแผนการออกหุ้นกู้ 5 ปี (ปี 60-64) ในวงเงิน 1 หมื่นล้านบาทนั้น ก็จะพิจารณาตามความเหมาะสม หากมีโครงการลงทุนที่น่าสนใจ หรือการรีไฟแนนซ์หนี้ระยะยาวที่ครบกำหนด ซึ่งในแต่ละปีมีประมาณ 1.6 พันล้านบาท ซึ่งทั้งหมดต้องดูความเหมาะสมของตลาดควบคู่กันไปด้วย