บมจ.สหไทย เทอร์มินอล ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 120 ล้านหุ้น และจะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางกาเรงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำน่ายหุ้นเพิ่ทุนดังกล่าว
บริษัทจะจัดสรรหุ้น IPO เพื่อเสนอขายกรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือพนักงานของบริษัทไม่เกิน 6 ล้านหุ้น และอีกไม่เกิน 114 ล้านหุ้นเสนอขายประชาชน บริษัทมีวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อการขยายธุรกิจของบริษัท, ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ปัจจุบัน สหไทย เทอร์มินอล มีรายได้จาก 4 ธุรกิจ ดังนี้ 1. ธุรกิจการให้บริการท่าเทียบเรือเชิงพาณิชย์ครบวงจรสำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) มีท่าเทียบเรือ 1 ท่า หน้ากว้างประมาณ 170 เมตร และบริการท่าเรือสำหรับเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (Barge) มีท่าเทียบเรือ 1 ท่า สามารถให้บริการเทียบเรือครั้งละ 2 ลำ แต่ละส่วนมีหน้ากว้างประมาณ 65 เมตร
นอกจากนี้ บริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้แก่ บริษัท บางกอก บาร์จ เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่บริษัทถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 51% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งหมด ได้ให้บริการท่าเทียบเรือสินค้าชายฝั่งอีก 1 ท่า ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับท่าเรือของบริษัท
2. ธุรกิจการให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางบก บริษัทฯ ให้บริการขนส่งสินค้าทางบกโดยใช้รถบรรทุกขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั้งภายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากท่าเรือของบริษัทฯและบริษัทย่อยไป-กลับแหลมฉบัง และจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังบริเวณที่เก็บสินค้าของลูกค้าในพื้นที่ใกล้เคียง
3. ธุรกิจการให้บริการพื้นที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์และคลังสินค้า บริษัทให้บริการพื้นที่ลานจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์และคลังจัดเก็บสินค้ากับลูกค้า ทั้งในเขตพื้นที่ให้บริการตามปกติ ซึ่งให้บริการกับลูกค้าทั่วไป และเขตให้บริการซึ่งปลอดภาษีอากร (Free zone) ปัจจุบัน บริษัทให้บริการผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการบริหารภาษีจากการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์
4. ธุรกิจการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ บริษัทฯ ให้บริการอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วย รายได้จากการให้บริการเป็นตัวแทนรับจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forward) รายได้จากการให้เช่าพื้นที่ เป็นต้น
บริษัทมีโครงการในอนาคตที่จะบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot) ด้วยการจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่เพื่อทำธุรกิจบริหารจัดการ ซ่อมบำรุง และจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot Service) ของกลุ่มบริษัทฯ มูลค่าลงทุนประมาณ 490 ล้านบาท จดทะเบียนจัดตั้ง.นวันที่ 30 มี.ค.60 ภายใต้ชื่อ บริษัท บางกอก คอนเทนเนอร์ เดโป เซอร์วิส จำกัด (BCDS) โดยบริษัท ถือหุ้น 100%
บริษัททำธุรกิจบริหารจัดการ ซ่อมบำรุง และจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์บริเวณท่าเรือสหไทยโดยมีความสามารถในการรองรับตู้คอนเทนเนอร์สูงสุดได้ประมาณ 170,000 ทีอียู/ปี บนพื้นที่ให้บริการประมาณ 15 ไร่ การจัดตั้ง BCDS ขึ้นนั้นเพื่อให้ดำเนินธุรกิจดังกล่าวเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจน อีกทั้งบริษัทตั้งใจจะปรับปรุงการใช้พื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงจำเป็นต้องโยกย้ายพื้นที่การให้บริการจัดการ ซ่อมบำรุง และจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ไปไว้นอกบริเวณท่าเรือ
นอกจากนี้ ยังสามารถขยายพื้นที่การให้บริการจัดการ ซ่อมบำรุง และจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเสริมธุรกิจของบริษัทฯ ให้เป็นท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์ที่ครบวงจร โดยคาดว่า BCDS จะสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์สูงสุดได้ประมาณ 270,000 ทีอียู/ปีบนพื้นที่ประมาณ 36 ไร่ และตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือสหไทย 2.5 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เงินทุนหมุนเวียนของกิจการ และเงินจากการขาย IPO โดยอาจกู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้นเพื่อใช้ลงทุนก่อนแล้วนำเงินจากการเสนอขาย IPO ไปชำระคืนภายหลัง
ณ วันที่ 3 พ.ค.60 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 230,000,000 บาท แบ่งเป็นจำนวนหุ้นสามัญทั้งสิ้น 460,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท และมีทุนที่ออกและชำระแล้ว 170,000,000 บาท แบ่งเป็นจำนวนหุ้น 340,000,000 หุ้น หลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทจะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเพิ่มขึ้นเป็น 230,000,000 บาท
ผลดำเนินงานของบริษัทงวดสิ้นปี 59 มีสินทรัพย์รวม 1,649.88 ล้านบาท หนี้สินรวม 1,286.12 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 363.76 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการให้บริการ 1,080.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 840 ล้านบาทในปี 58 และกำไรสุทธิ 73.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 24.75 ล้านบาทนปี 58
ผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ วันที่ 3 พ.ค.60 ประกอบด้วย กลุ่มรัตนศิริวิไล ถือหุ้น 163,171,000 หุ้น คิดเป็น 47.99% หลังเสนอขาย IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 35.47%, กลุ่มครุจิตร ถือหุ้น 82,914,000 หุ้น คิดเป็น 24.39% จะลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 18.02%, กลุ่มจงยั่งยืนวงศ์ ถือหุ้น 17,995,400 หุ้น คิดเป็น 5.20% จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 3.91%
บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทหลังหักภาษีเงินได้ สำรองตามที่กฏหมายกำหนด และภาระผูกพันตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้