นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุน 65-100 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับรองรับการซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯเพิ่มเติม โดยจะอยู่ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของแหล่งก๊าซธรรมชาติ Marcellus shale ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย คาดว่าจะสรุปความชัดเจนได้ในครึ่งปีหลังนี้
สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจถ่านหินในปีนี้ บริษัทยังคงปริมาณการขายถ่านหินระดับ 47 ล้านตัน โดยจะมาจากการผลิตและขายเองราว 45 ล้านตัน และซื้อถ่านหินจากผู้ผลิตรายอื่นอีก 1-2 ล้านตัน ขณะที่ราคาขายถ่านหินก็ปรับตัวดีขึ้น ทั้งเหมืองในอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งตั้งเป้าราคาขายถ่านหินปีนี้จะอยู่ที่เฉลี่ย 65 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน จากปีที่แล้วอยู่ที่ 53 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน โดยถ่านหินจากอินโดนีเซีย คาดราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 65-70 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน และถ่านหินจากออสเตรเลียจะมีราคาเฉลี่ยมากกว่า 70 เหรียญออสเตรเลีย/ตัน
ทั้งนี้ ทิศทางการขายถ่านหินในอินโดนีเซีย บริษัทตั้งเป้าผลิตและขายไว้ที่ 27 ล้านตัน โดยได้กำหนดราคาขายไปแล้วราว 37% ครอบคลุมไปจนถึงไตรมาส 3/60 และอีก 34% อยู่ระหว่างรอขายตามราคาตลาด ส่วนอีก 29% จะขายตามอ้างอิงราคาตลาดล่วงหน้า ขณะที่ออสเตรเลีย ตั้งเป้าผลิตและขายไว้ที่ 14.1 ล้านตัน แบ่งเป็นการขายในประเทศ 60% ที่เหลือเป็นการส่งออก โดยในช่วงไตรมาส 2-3/60 บริษัทมีแผนจะปรับราคาขายขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีราคาขายอยู่ที่ 70 เหรียญออสเตรเลีย/ตัน ส่วนประเทศจีน ราคาขายก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"ปีนี้รายได้ก็น่าจะเติบโตดีขึ้น จากราคาขายถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งในอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย และจะมีรายได้ของธุรกิจก๊าซฯ เข้ามาราว 1-2% จากเดิมมีสัดส่วนรายได้จากถ่านหิน 90% และไฟฟ้าอีก 10% ขณะที่คาดอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้จะอยู่ที่ 30-35%"นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า ส่วนธุรกิจไฟฟ้าในนามของ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) บริษัทตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิตในปี 68 ราว 4,300 เมกะวัตต์ จากปีนี้คาดอยู่ที่ 2,000 เมกะวัตต์ โดยจะมาจากการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงพลังงานทดแทนอื่นๆ ในประเทศที่น่าสนใจ เช่น เวียดนาม ,อินโดนีเซีย ,ลาว ,ญี่ปุ่น,จีน และไทย
อีกทั้งมองโอกาสในการขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในประเทศอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน ,ก๊าซฯ หรือพลังงานความร้อนใต้พิภพ จากนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ตั้งเป้าจะเป็นผู้ผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นอันดับ 1 ของโลก