นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะอยู่ในลักษณะของประคองตัว แต่ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้แต่กรอบเริ่มแคบลง แม้ว่าหุ้นขนาดใหญ่จะปรับตัวขึ้นได้ดีจากแรงซื้อกลับ แต่หุ้นขนาดกลางและเล็กยังถ่วงจากความเสี่ยงถูกปรับมูลค่าพื้นฐาน โดยหุ้นขนาดกลาง-เล็กมีอยู่ในตลาดถึง 300-400 บริษัท ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่มีแค่ราว 20 บริษัทเท่านั้น ดังนั้น การขยับขึ้นไปก็คงจะเป็นไปอย่างจำกัด
ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงผ่อนคลายบ้าง โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ปรับขึ้นมา ส่วนสถานการณ์การเมืองในสหรัฐฯก็ยังไม่แรงไปจากช่วงที่ผ่านมา
ส่วนบ้านเราจะมีปัจจัยลบวันนี้ก็จากที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเศรษฐกิจไทยงวดไตรมาส 1/60 เติบโตน้อยกว่าภูมิภาค นอกเหนือนี้ก็ไม่ได้มีปัจจัยอื่น
พร้อมให้กรอบการแกว่งไว้ที่ 1,553-1,564 จุด โดยกลยุทธ์ลงทุนเน้นลงทุนหุ้นในกลุ่มธนาคาร อย่าง SCB, KTB รวมไปถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่าง PTTEP เป็นต้น
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (22 พ.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,894.83 จุด เพิ่มขึ้น 89.99 จุด (+0.43%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 6,133.62 จุด เพิ่มขึ้น 49.92 จุด (+0.82%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,394.02 จุด เพิ่มขึ้น 12.29 จุด (+0.52%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 30.54 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 6.29 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 24.23 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 2.58 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 4.66 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 7.29 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 0.63 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (22 พ.ค.60) 1,557.73 จุด เพิ่มขึ้น 8.09 จุด (+0.52%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 177.65 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พ.ค.60
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (22 พ.ค.60) ปิดที่ 50.73 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 40 เซนต์ หรือ 0.8%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (22 พ.ค.60) ที่ 5.83 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 34.32 มองกรอบวันนี้ 34.25-34.45 ตลาดรอประชุมกนง.พุธนี้-ตัวเลขยูโรโซน
- รัฐบาลเร่งการลงทุนอีอีซี เปิดทางต่างชาติผลิตชิ้นส่วนอากาศยานโดยถือหุ้นได้เกิน 50% จูงใจลงทุน แลกถ่ายทอดเทคโนโลยี เตรียมจ้างผู้ชำนาญการดูแล ทำอีไอเอ 5 โครงการใหญ่ ลดเวลาทำพีพีพีซูเปอร์ ฟาสต์แทรคเหลือไม่เกิน 10 เดือน พร้อมออกมาตรการเพิ่ม ระหว่างรอกฎหมายประกาศใช้
- กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน เม.ย.60 การส่งออกมีมูลค่า 16,864 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 8.5% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,808 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 13.4% ส่งผลให้ดุลการค้า เม.ย.เกินดุล 56.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้ภาวะการค้าระหว่างประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 73,321 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 5.7% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 69,211 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 14.5% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลรวม 4,110 ล้านดอลลาร์ สรอ.
- นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของไทยที่ออกมาดีเชื่อว่าจะดึงดูดให้เม็ดเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีเป็นการยืนยันหรือส่งสัญญาณที่ดีปัจจัยพื้นฐานไทยยังดี
- กระทรวงพาณิชย์จีน ประกาศเพิ่มอัตราภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดสำหรับน้ำตาลที่นำเข้าเกินโควตาในอัตรา 45% เพิ่มเติมจากระดับปกติที่ 50% รวมเป็น 95% หลังอุตสาหกรรมน้ำตาลภายในประเทศเผชิญกับการแข่งขันสูงทั้งจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและจากน้ำตาลราคาถูกที่นำเข้ามาจากเกือบ 200 ประเทศ ซึ่งรวมถึงไทย เมียนมา และบราซิล
- ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกครึ่งปีแรกค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายด้านให้ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่เข้าสู่ไตรมาส 3 จะมีแนวโน้มแผ่วลง ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐก็ยังไม่เกิดการปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับการลงทุนของภาคเอกชนก็ยังไม่ฟื้นตัว โดยปัจจุบันยังคงเน้นการขับเคลื่อนการลงทุนจากภาครัฐเป็นหลัก
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 24 พ.ค.นี้ จะมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อเนื่อง และน่าจะส่งสัญญาณยืนดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะเพื่อเอื้อให้การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวได้ค่อนข้างดี รวมทั้งการลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย ช่วยลดทอนแรงกดดันต่อกำลังซื้อและภาระต้นทุนของภาคธุรกิจ ลงได้บ้างบางส่วน
*หุ้นเด่นวันนี้
- MONO (เออีซี) "ซื้อ"เป้า 4 บาท ปี 60 คาดพลิกกำไร 327 ล้านบาท จากการเติบโตของรายได้ธุรกิจทีวีดิจิตอลช่อง MONO29 ที่มีเรตติ้งพุ่งต่อเนื่องหลังมี Content ที่แข็งแกร่งทำให้ช่อง MONO29 ติดตลาดและมีเรตติ้งสูงเป็นอันดับ4 อีกทั้งยังมีการคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น บวกกับราคาหุ้นปัจจุบันยังมี Upside 15.6% และคาดให้ Div.Yield ปีนี้ราว 1.0%
- ILINK (เออีซี) "ซื้อ"เป้า Consensus 18.40 บาท ปี 60 คาดกำไรโต 56.3%YoY จากมี Backlog ปัจจุบันที่ 1.5 พันล้านบาท (50% จะรับรู้เป็นรายได้ปีนี้) และอยู่ระหว่างประมูลงานเพิ่ม ได้แก่ งานวางสายเคเบิลใต้น้ำ (มูลค่า 2.1 พัน ลบ. คาดรู้ผล 2H60) งานสถานีไฟฟ้าย่อย (มูลค่า 500-600 ล้านบาท คาดรู้ผล 3Q60) งานติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติสุวรรณภูมิเฟส 2 (มูลค่า 1.5 พันล้านบาท คาดรู้ผล มิ.ย. นี้) + Upside 27% และคาดให้ Div.Yield ปีละ 2.4%
- BANPU (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 24 บาท แม้ราคาถ่านหินจะปรับลงเหลือ US$ 73.47/ตันสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ราคาเฉลี่ย 2QTD ยังอยู่ระดับสูงที่ US$80.5/ตัน -3.6% จากราคาเฉลี่ยใน 1Q60 แนวโน้มราคาถ่านหินน่าจะค่อย ๆ ขยับขึ้นจากการ re-stock ของจีนหลังจากสต็อกเหลือค่อนข้างต่ำ ส่วนกำไร 2Q60 น่าจะทรงตัว Q-Q เพราะธุรกิจถ่านหินที่ลดลง ชดเชยได้จากโรงไฟฟ้าที่ดีขึ้นเพราะเลื่อนหยุดซ่อมไปเป็น 4Q60
- ITEL (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 7 บาท คาดกำไรโตโดดเด่นต่อเนื่องใน 2Q60 คาด +30% Q-Q แต่ทรงตัว Y-Y เพราะฐานกำไร 2Q59 สูง การลงทุนสร้างเสาโทรคมนาคมในเมียนมาที่ล่าช้าเพราะถูกลูกค้าต่อราคา คาดได้ข้อสรุป 2 สัปดาห์ข้างหน้าซึ่งยังไม่รวมในประมาณการ ส่วน Data Center แห่งที่ 2 (ทำร่วมกับ WHA และ AIT) คาดเริ่มรับรู้รายได้ใน 2H17 ราว 15-20 ล้านบาทต่อปี โดยยังคาดกำไรทั้งปี +121% Y-Y
- S (ทรีนีตี้) "ทยอยซื้อ" เป้า 6.60 บาท เพื่อรอเก็บเกี่ยวกำไรจากการเติบโตในระยะยาวของบริษัท เนื่องจากคาดการณ์กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ยปีละ 86% ในช่วง 4 ปีข้างหน้าจากการรับรู้รายได้โครงการ Greenfield คาดปี 2560 นี้จะเป็นปีแรกที่บริษัทมีการรับรู้กำไรจากการร่วมทุนโรงแรมในสหราชอาณาจักรหากสามารถล้างค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด