นายชาญชัย กงทองลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทรีนีตี้ วัฒนา (TNITY) เปิดเผยว่า รายได้รวมทั้งปี 60 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 791.63 ล้านบาท ซึ่งรายได้ของบริษัทในปีนี้อาจจะได้รับแรงกดดันจากธุรกิจหลักทรัพย์ที่ภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังไม่เห็นทิศทางการปรับตัวขึ้นหรือลงอย่างชัดเจน เพราะยังไม่มีปัจจัยที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อทิศทางของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลให้ดัชนีตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันแกว่งตัวในลักษณะไซด์เวย์ และมูลค่าการซื้อขายชะลอตัวลงจากปี 59 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท/วัน ซึ่งกดดันรายได้ธุรกิจหลักทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรก
แต่บริษัทยังเชื่อว่าภาพรวมมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยทั้งปีนี้จะอยู่ที่เฉลี่ย 5 หมื่นล้านบาท/วัน อีกทั้งการที่รายได้จากธุกิจหลักทรัพย์ลดลงเกิดจากการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น ทำให้ส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ของบริษัทลดลงเป็น 1.8-1.9% ในปีก่อน จากเดิมที่มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 2%
"บริษัทยังคงดำเนินนโยบายกระจายฐานรายได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกระจายธุรกิจไปสู่การบริหารเงินลงทุน การออกตราสารหนี้ และที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจมีเสถียรภาพ และผู้ถือหุ้นได้มั่นใจในความสามารถในการทำกำไรระยะยาว อีกทั้งบริษัทมีจุดเด่นด้านการจ่ายเงินปันผลที่ให้ผลตอบแทนสูงกับผู้ถือหุ้น อย่างสม่ำเสมอ โดยติด 1 ใน 10 ของบริษัทจดทะเบียนที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลตอบแทนสูงกว่าตลาด และสูงกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน"นายชาญชัย กล่าว
ในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นการเพิ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) อีก 20%หรือมีจำนวนลูกค้า Hight Net Worth ในสิ้นปี 60 อยู่ลี่ 480 ราย จากสิ้นปีก่อนที่มี 400 ราย ด้วยการใช้กลยุทธ์การส่งมอบผลตอบแทนในการลงทุนให้กับลูกค้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด 20%
พร้อมกันนี้จะเพิ่มเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคล (AUM) เป็น3.3 พันล้านบาท โดยณสิ้นเดือน เม.ย. 60 บริษัทมีมูลค่า AUM อยู่ที่ 3 พันล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่ 2.68 พันล้านบาท สำหรับอัตราผลตอบแทนตั้งแต่เดือน ม.ค.60 ถึงสิ้นเดือน เม.ย. 60 อัตราอยู่ที่ 5% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของบริษัท โดยในปี 59 อัตราผลตอบแทนทั้งปีอยู่ที่ 11%
ด้านธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการระดมทุนด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุน ทั้งการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ได้แก่ บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ ซึ่งยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งเป็นธุรกิจในหมวดขนส่งและโลจิสติกส์
สำหรับบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในช่วงกำลังดำเนินงานมีจำนวน 7-9 บริษัท ซึ่งมีแผนที่จะเข้าระดมทุนทั้ง IPO และ PP โดยอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น หมวดสถาบันการเงิน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ธุรกิจก่อสร้าง สื่อ และพาณิชย์ คาดว่าจะมีดีล IPO ที่เสนอขายและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ภายในปีนี้ 3 ราย และบริษัทที่เหลือจะทยอยเสนอขายและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในช่วงปี 61-62
ขณะที่งานให้บริการที่ปรึกษาทางการเงินด้านการปรับโครงสร้างกิจการ การปรับโครงสร้างทางการเงิน และการควบรวมกิจการ (M&A) ทั้งในและต่างประเทศ ที่อยู่ในช่วงกำลังดำเนินงานอยู่ มีจำนวน 4-5 บริษัท และการออกตราสารหนี้ (หุ้นกู้) มีแผนเป็นผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้ในปี 60 อีก 6-8 บริษัท รวมมูลค่าประมาณ 4-5 พันล้านบาท โดยเป็นธุรกิจในหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทรัพยากร เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อาหารและเครื่องดื่ม จากปี 59 บริษัทได้เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ไปแล้ว 8 บริษัท มูลค่า 3.39 พันล้านบาท โดยในปี 60 บริษัทมองว่าตลาดตราสารหนี้ ยังคงเป็นทางเลือกในการระดมทุน ในตลาดทุน เนื่องจากคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ในระดับ 1.50% ไปจนถึงกลางปี 60
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า รายได้จากการลงทุนของบริษัท เช่น มาร์เก็ตเมคเกอร์ เดย์เทรด การเก็งกำไรส่วนต่างของราคาหุ้น เริ่มมั่นคงและสม่ำเสมอมากขึ้น โดยในปี 59 บริษัทมีรายได้จากเงินลงทุน 219 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 58 ที่มีรายได้จากการลงทุน 172 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์อยู่ที่ 150 ล้านบาท จาก 129 ล้านบาทในปี 58
ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากรายได้ธุรกิจหลักทรัพย์ 42.71% รายได้การลงทุน 27.76% รายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมหลักทรัพย์ 18.97% รายได้จากการบริหารกองทุนส่วนบุคคล 3.43% และรายได้จากธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน 5.08%