นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างดีแทค และ บมจ.ทีโอที จะเปิดให้บริการไร้สาย 4G LTE 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) บนแถบคลื่นที่กว้างถึง 60MHz ให้เร็วที่สุด ภายหลังจากคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาเป็นคู่ค้ากับทีโอทีเพื่อให้บริการดังกล่าวในช่วงไตรมาส 4/60 ขณะที่ยืนยันจะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ใหม่เพิ่มเติมในปีหน้าอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถเปิดเผยแผนการลงทุนการให้บริการไร้สายบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ด้วยเทคโนโลยี 4G LTE-TDD เพราะต้องรอการเซ็นสัญญาให้แล้วเสร็จก่อน แต่ยืนยันว่ามีความพร้อมในการลงทุน และมั่นใจว่าจะขยายการให้บริการครอบคลุมเป้าหมาย 80% ของประเทศได้ จากเครื่องโทรศัพท์มือถือปัจจุบันนี้ก็สามารถรองรับการใช้บริการดังกล่าวได้แล้วราว 70% ของเครื่องโทรศัพท์มือถือที่มีอยู่ทั้งหมด
"หลังจากทุกอย่างลงตัว เราจะสามารถเปิดเผยได้ในรายละเอียดทั้งหมด และคาดว่าจะสามารถนำคลื่นออกมาให้บริการได้อย่างเร็วที่สุด โดยจุดเด่นของบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งมีช่องสัญญาณกว้างถึง 60 MHz จะสามารถให้บริการดาวน์โหลดได้ถึง 300 Mbps เราจึงเชื่อมั่นว่าหากมีบริการที่ดีก็น่าจะส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น"นายนอร์ลิ่ง กล่าว
นายนอร์ลิ่ง กล่าวอีกว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยขยายโครงข่ายบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ครอบคลุมประชากร 80% ของประเทศ เพื่อสนับสนุนแผนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม จะเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีสถานีฐานจำนวนประมาณ 20,000 แห่ง เพื่อให้ทีโอทีเช่าใช้งาน ขณะที่ทีโอที จะเป็นผู้บริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารไร้สายด้วยตนเอง
"ความร่วมมือระหว่างดีแทคและทีโอที ที่จะเปิดให้บริการไร้สาย 4G LTE 2300 MHz บนคลื่นที่กว้างถึง 60 MHz ซึ่งเป็นแบรนด์วิดท์ บนคลื่นความถี่เดียวที่กว้างที่สุดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย จะยกระดับประสบการณ์การใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงบนโมบายบรอดแบรนด์ของผู้ใช้งานดิจิทัลไปอีกขั้น และยังเปิดมิติใหม่ในการพัฒนาการสื่อสารและโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมครั้งใหญ่ โดยดีแทคและทีโอทีจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างสัญญาทางธุรกิจ ซึ่งดีแทคเชื่อมั่นว่า ทั้งดีแทคและทีโอทีจะสามารถบรรลุข้อตกลงและได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมดภายในไตรมาส 4/60"นายนอร์ลิ่ง กล่าว
นายนอร์ลิ่ง กล่าวอีกว่า สำหรับคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHz ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 61 บริษัทก็ได้มีแผนรองรับเพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่คาดว่าจะมีการประมูลคลื่นความถี่ในปีหน้า บริษัทก็จะเข้าร่วมประมูลด้วย ส่วนด้านผลการดำเนินงานในช่วงก่อนหมดสัญญาสัมปทานนั้น DTAC ก็จะต้องบันทึกค่าเสื่อมเข้ามาทั้งหมด ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมด้วย
ด้านนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า หลังจากที่ทีโอที ได้คัดเลือกกลุ่มดีแทค เป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ขั้นตอนต่อจากนี้ ทีโอที จะร่วมกับกลุ่มดีแทค ในการจัดทำร่างสัญญาทำธุรกิจร่วมกัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 46 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ.2533 จากนั้นจะส่งเข้าสู่บอร์ดย่อยของทีโอที หรือคณะกรรมการกฎหมายและสัญญา เพื่ออนุมัติเห็นชอบ และจะนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการทีโอทีต่อไป คาดว่าจะผลักดันเข้าสู่บอร์ดทีโอทีได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้
ทั้งนี้ จะเสนอร่างสัญญาดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อตรวจสอบข้อกฎหมาย พร้อมกับส่งไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อตรวจร่างสัญญาต่อไป ซึ่งมั่นใจว่าจะมีการเซ็นสัญญากันได้ภายในไตรมาส 4/60
การให้บริการไร้สายบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ด้วยเทคโนโลยี 4G LTE-TDD เป็นการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ให้เต็มประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยจุดเด่นคือ ผู้ให้บริการมีความยืดหยุ่นในการจัดสรรสัดส่วนช่วงคลื่นการรับและส่งข้อมูลตามพฤติกรรมการใช้งาน ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักนิยมดาวน์โหลดข้อมูลและวิดีโอมากกว่าอัปโหลด ด้วยเทคโนโลยี LTE-TDD จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ให้บริการสามารถจัดสรรช่องสัญญาณเพื่อรองรับการดาวน์โหลดให้มากกว่าช่องสัญญาณอัปโหลด หากผู้ใช้งานเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน ผู้ให้บริการก็สามารถปรับเปลี่ยนการจัดสรรช่องสัญญาณได้ตามต้องการ
และ จากรายงานของ GSMA Intelligence ระบุว่า LTE-TDD เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการคาดการณ์ว่า ส่วนแบ่งตลาดของเทคโนโลยี LTE-TDD จะเพิ่มขึ้นเป็น 22% ของการเชื่อมต่อบนเทคโนโลยี LTE ทั้งหมดทั่วโลกในปี 63