นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) ประเมินทิศทางมองตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ แรงซื้อของตลาดจากราคาลงไปมาก (Technical rebound) คาดว่าจะลดลง ความเสี่ยงในต่างประเทศทั้งการเมืองสหรัฐฯ เลือกตั้งอังกฤษยังมีอยู่ จึงอาจจะเห็นแรงขายทำกำไรช่วงสั้นเข้ามาในตลาด โดยเฉพาะถ้าดัชนียังไม่สามารถผ่าน 1,573 จุด ขึ้นไปได้ ตัวแปรที่มีผลต่อตลาด คือ Fund Flow และค่าเงินบาท ซึ่งหากแข็งกว่านี้ จะเป็นปัจจัยลบ
ภาพรวมของการลงทุนสัปดาห์นี้ มองว่าตลาดขาดปัจจัยหนุนที่ชัดเจน ความผันผวนของค่าเงิน สะท้อนว่าปัจจัยในต่างประเทศนั้นยังอ่อนไหวต่อตัวแปรที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเป็นบวกต่อสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะพันธบัตร-ทองคำ หรือหุ้นที่มีความเป็น defensive เช่น โรงไฟฟ้า ขณะที่หุ้นที่เล่นรับกับการ rebound ของตลาดน่าลดการถือลง ส่วนสัปดาห์ถัดไปนักลงทุนจะเริ่มประเมินผลประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) และเลือกตั้งอังกฤษ ตลาดน่าจะผันผวนมากขึ้น
"กลยุทธ์การลงทุนในสัปดาห์นี้แนะนำถือเงินสด 30% รอซื้อหุ้นหากเกิดการปรับฐาน หุ้นขนาดใหญ่ที่รายได้และกำไรยังดูดีอยู่ หรือกลุ่มที่กำไรสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ ประเมินกรอบดัชนีฯสัปดาห์นี้ 1,553-1,590 จุด สำหรับหุ้นที่น่าสนใจได้แก่ BCH , IRPC , WICE, GPSC , BLA , KSL, PSH , VIH , SCN"
ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อตลาด ได้แก่ เงินบาทแข็งที่สุดในรอบสองปี จากปัจจัยภายในสหรัฐฯที่ไม่มีความคืบหน้าด้านนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองขณะที่ของไทย การไหลเข้าของเงินลงทุนในตลาดพันธบัตรและคาดว่ามาจากการคาดการณ์ว่าดอลล่าร์จะอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ผลที่คาดจะเกิดขึ้นต่อตลาด คือ กระทบต่อผลประกอบการของผู้ส่งออกแต่เป็นบวกต่อสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) บวกต่อผู้กู้ แต่ความกังวลต่อการเข้าแทรกแซงจาก ธปท. คาดจะยังไม่เกิดขึ้น
โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังสูง ความน่าจะเป็นอยู่ที่ 95% (Bloomberg) แต่ที่ตลาดน่าจะให้ความสนใจ คือ เมื่อใดเฟดจะปรับลดขนาดสินทรัพย์ $4.43 ล้านล้านเหรียญ ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ QE ปลายปีก่อน หามีกำหนดการที่แน่นอน จะมีผลต่อ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) เพราะเงินจะดูดออกจากระบบและดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ลงมาต่ากว่า $50 เหรียญชั่วคราว โดยตลาดอาจคาดหวังมากเกินไปว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) จะคงกำลังการผลิตไว้อย่างน้อย 12 เดือน (ประกาศจริงคือ 9 เดือน) จึงเกิดแรงขายสัญญาน้ำมัน การใช้แท่นผลิตน้ำมันของสหรัฐฯสูงขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 19 ติดต่อกัน คาดแรงขายน่าจะลดลง แต่จะทำให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นมาแตะ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลอีกครั้ง ด้วยปัจจัยบวกจากความพยายามในการลดกาลังการผลิตของโอเปคและดอลลาร์อ่อนค่า
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงที่ต้องจับตาดูการเร่งใช้จ่าย-ลงทุน-อนุมัติ-ประมูล ของภาครัฐฯ เนื่องจากเป็นแรงขับสำคัญของเศรษฐกิจปีนี้ เพราะมีการชะลอลงมาตั้งแต่ต้นปี และยังต้องตามสถานการณ์ฝนที่ตกต่อเนื่องและภาวะน้ำท่วมด้วย